พะยอม
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Shorea roxburghii       G.don.
วงศ์ :  DIPTEROCARPACEAE
ชื่อสามัญ : White Meranti
ชื่ออื่น : เคี่ยม แคน เชี่ยว พะยอมดง พะยอมทอง ยางหยวก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ใบ เป็นใบเดี่ยว เกิดเรียงกันแบบสลับ ลักษณะใบเป็นรูปขอบขนาน กว้าง 3-8 ซม. ยาว 4-10 ซม. ปลายใบป้าน ฐานใบกลม ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้างประมาณ 0.2 ซม. ยาว 0.5-0.8 ซม. ปลายแยกเป็นกลีบยาว 3 กลีบ กลีบสั้น 2 กลีบ กลีบดอก เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบรูปขอบขนานแคบๆ ถึงขอบขนานแกมรูปใบหอก และจีบเวียนกันแบบกังหัน กว้าง 0.4-0.5 ซม. ยาว 1.5-1.6 ซม. เกสรเพศผู้ 15 อัน เกสรเพศเมีย รังไข่ยาวประมาณ 0.2 ซม.  ผล รูปกระสวย ปลายแหลม กว้าง 0.8-1.0 ซม. ยาว 1.2-2.5 ซม. มีปีก 5 ปีก ปีกยาว 3 ปี ก กว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 8-10 ซม. และปีกสั้น 2 ปีก ยาว 6 ซม. เมล็ด มี 1 เมล็ด
ประโยชน์
: ไม้ใช้ทำเสาบ้าน ทำหมองรองรางรถไฟ ทำครก สาก กระเดื่อง ลูกหีบ ซี่ล้อเวียน กระเบื้องแผ่นไม้ เปลือก มีรสฝาด ใช้ผสมเป็นสารกันบูดในเครื่องหมักดอง และฟอกหนัง ชันใช้ผสมน้ำมันทาไม้และยาเรือ  ดอก รับประทานได้ ใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ลม บำรุงหัวใจ และลดไข้  ชัน ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ยาแนวเรือ