ปอกระสา
ชื่อวิทยาศาสตร์
:
Broussonetia papyrifera
(L.) Vent.
วงศ์ :
Moraceae
ชื่อสามัญ
: Paper mulberry
ชื่ออื่น :
ฉำฉา, ชำสา
(นครสวรรค์); ชะดะโค (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร); เซงซะ
(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ปอกระสา (ภาคกลาง, ภาคเหนือ);
ปอฝ้าย (ภาคใต้); ส่าแหล่เจ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน);
สายแล (เงี้ยว-ภาคเหนือ); หมอมี, หมูพี (ภาคกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ต้นขนาดกลาง สูงถึง 15 เมตร
กึ่งผลัดใบ เรือนยอดกลม โปร่ง หรือแผ่กว้าง
กิ่งเปราะหักง่าย ห้อยย้อยลง
เปลือกสีน้ำตาลเรียบหรือแตกเป็นริ้วยาว
มีช่องระบายอากาศเป็นรูเล็กๆ สีน้ำตาลกระจายทั่วไป ใบ
เดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปไข่กว้าง กว้าง 5-22 ซม. ยาว
7-29 ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือรูปหัวใจ
ขอบใบจักซี่ฟัน ผิวใบด้านบนหยาบ
ด้านล่างมีขนละเอียดปกคลุม แผ่นใบบางและนิ่ม
เส้นแขนงใบข้างละ 4-7 เส้น ก้านใบยาว 2-15 ซม. ดอก
แยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้สีขาว
ออกเป็นช่อแบบช่อหางกระรอก ช่อดอกยาว 4-8 ซม.
กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ไม่มีกลีบดอก
ดอกเพศเมียสีขาวปนเขียวอ่อน
ออกรวมเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นตามซอกใบ
กลีบเลี้ยงเป็นหลอดปลายแยก 2-4 แฉก
ช่อดอกบานเต็มที่กว้าง 1.5-2 ซม. ผล
เป็นผลสดแบบมะเดื่อ ทรงกลม สีแดงแสด ขนาด 3-4.5 ซม.
เมล็ดกลมแบนสีแดง
พบทั่วไปตามริมน้ำ ที่ชื้น
ที่โล่งแจ้งและที่รกร้าง ภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงจากระดับน้ำทะเล 50-800 เมตร
ระยะการออกดอกประมาณเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม
ออกผลประมาณเดือน เมษายน-เมษายน
ประโยชน์ :
เป็นไม้โตเร็ว
ควรนำมาปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ประโยชน์อื่น
เปลือกใช้ผลิตกระดาษ ทอผ้าและเส้นใย ใบเป็นอาหารสัตว์
ผล เปลือกและราก ใช้เป็นยาบำรุงไต ยาขับปัสสาวะ
เมล็ดเป็นอาหารของนกและกระรอก
น้ำมันเมล็ดใช้สำหรับเครื่องเขิน สบู่
|