สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่
             Klong Phai Botanical Garden   
 

Moraceae












มะหาด

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Artocarpus lacucha Roxb.
วงศ์ :  Moraceae
ชื่อสามัญ

ชื่ออื่น :  กาแย, ตาแป, ตาแปง (มลายู-นราธิวาส); มะหาด (ภาคใต้); มะหาดใบใหญ่ (ตรัง); หาด (ทั่วไป)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงถึง 15 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม ลำต้นเปลาตรง โคนต้นเป็นพูพอนต่ำ เปลือกสีน้ำตาลปนดำ แตกล่อนเป็นแผ่นเล็กๆ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปขอบขนาน รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 5-20 ซม. ยาว 10-30 ซม. ปลายใบสอบแหลม โคนใบมนหรือหยักเว้าน้อย ผิวใบด้านบนและล่างมีขนสาก แผ่นใบค่อนข้างหนา ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ 9-17 เส้น ก้านใบยาว 1-3 ซม. ดอก สีเขียวอมเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นฝังตัวอยู่บนฐานรองดอก ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง  ดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย แยกช่อกันแต่อยู่บนต้นเดียวกัน กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ช่อดอกรวมบานเต็มที่กว้าง 1-1.5 ซม. ผล ผลรวมรูปทรงกลมค่อนข้างบิดเบี้ยว ขนาด 5-10 ซม. ประกอบด้วย ผลย่อยรูปรีเชื่อมติดกันแน่น ผิวผลมีลักษณะเป็นปุ่มหนาม ผลแก่จัดสีเหลือง เมล็ดรูปรีมี 1 เมล็ดต่อผลย่อย 1 ผล
          สภาพนิเวศวิทยา พบในป่าดิบและป่าเบญจพรรณชื้น ออกดอกประมาณเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน ติดผลประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ประโยชน์ :  นอกจากปลูกประดับให้ร่มเงาแล้ว ใยจากเปลือกใช้ทำเชือก รากให้สีเหลืองใช้ย้อมผ้า เนื้อไม้เป็นยาแก้จุกแน่น ขับลม ยาระระบายและถ่ายพยาธิ เนื้อไม้ใช้ทำเสาเรือน สะพาน ไม้พื้น ต่อเรือ เสากระโดงเรือ เครื่องแต่งบ้านและเครื่องดนตรี