กาหลง
ชื่อวิทยาศาสตร์
:
Bauhinia acuminata
L.
วงศ์ :
Leguminosae - Caesalpinioideae
ชื่อสามัญ
: -
ชื่ออื่น :
กาแจ๊ะกูโด (มลายู-นราธิวาส); กาหลง (ภาคกลาง); โยธิกา
(นครศรีธรรมราช); ส้มเสี้ยว (ภาคกลาง); เสี้ยวน้อย
(เชียงใหม่)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร
กิ่งอ่อนมีขนทั่วไป กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว
เรียงสลับ รูปไข่หรือเกือบกลม กว้าง 9-13 ซม. ยาว
10-14 ซม.
ปลายเว้าลงมาสู่เส้นกลางใบลึกเกือบครึ่งแผ่นใบ
ทำให้ปลายแฉกทั้ง 2 ข้างแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ
เส้นใบออกจากโคนใบ 9-10 เส้น
ปลายเส้นกลางใบมีติ่งเล็กแหลม แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง
ด้านล่างมีขนเล็กละเอียด ก้านใบยาว 3-4 ซม.
มีขนหูใบเรียวแหลม ยาวประมาณ 1 ซม. ร่วงง่าย
มีแท่งรยางค์เล็กๆ อยู่ระหว่างหูใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้นๆ
ออกตรงข้ามกับใบที่อยู่ตอนปลายกิ่ง มี 3-10 ดอก
ก้านดอกยาว 0.5-1.5 ซม. โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็ก
2-3 ใบ รูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม ดอกตูมรูปกระสวย ยาว
2.5-4 ซม. ดอกบาน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 ซม.
กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันคล้ายกาบกว้าง 1-1.8 ซม. ยาว
2.5-4 ซม. ปลายเรียวแหลมและแยกเป็นพู่เส้นสั้นๆ 5 เส้น
กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว รูปรีหรือรูปไข่กลับ
มักมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายมน โคนสอบ กว้างประมาณ 2 ซม.
ยาว 4-6 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน
ก้านชูอับเรณูแต่ละอันยาวไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 1.5-2.5
ซม. อับเรณูสีเหลือง รูปขอบขนาน ยาว 3-5 มม.
ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. รับไข่รูปขอบขนาน
ยาว 6-8 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 1-2 ซม.
ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลม ฝักแบน คล้ายรูปขอบขนาน
กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 9-15 ซม. ปลายและโคนฝักสอบแหลม
ปลายฝักมีติ่งแหลม ยาวประมาณ 8 มม. ขอบฝักเป็นสันหนา
มี 5-10 เมล็ด เมล็ดเล็ก คล้ายรูปขอบขนาน
พบได้ในทั่วทุกภาคของประเทศ ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา
ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ประโยชน์ :
ดอก ใช้เป็นยาแผนโบราณ
แก้ปวดศีรษะ ลดความดันโลหิต
แก้เลือดออกตามไรฟันและแก้เสมหะพิการ
ในอินโดนีเซียใช้รากแก้ไอ
ที่มาของข้อมูล
: อนุกรมวิธานพืช อักษร ก
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน |