หิรัญญิการ์
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Beaumontia
grandiflora Wall.
วงศ์ :
Apocynaceae
ชื่อสามัญ
: -
ชื่ออื่น :
หิรัญญิการ์ (ภาคกลาง); เถาตุ้มยำช้าง (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง
มีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม
ลำเถาเลื้อยพาดพันไปตามพุ่มไม้และเรือนยอดของต้นไม้สูงๆ
ชอบขึ้นอยู่ตามชายป่าดิบ หรือป่าเบญจพรรณใกล้ลำธาร
ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ใบ
ออกเดี่ยวๆ อยู่ตรงกันข้าม
ใบแต่ละคู่ทำมุมฉากซึ่งกันและกัน รูปมนกว้างประมาณ 11
x 19 ซม. ปลายใบแหลมเป็นติ่ง
ขอบใบเรียบ ด้านล่างมีเส้นแขนงใบปรากฎเป็นโครงชัดเจน
ไม่มีขนปกคลุม ดอก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกบนช่อสั้นๆ
ที่ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมี 6-11 ดอก บานไม่พร้อมกัน
ครั้งหนึ่งจะมีดอกบานเพียง 1-3 ดอก
ก้านช่อดอกและก้านดอกมีขนละเอียดสีน้ำตาลปนแดงปกคลุมทั่วไป
ก้านดอกยาว 2.0-3.2 ซม. ดอกตูมสีเหลืองอ่อน
หรือสีเหลืองอมเขียว กลีบรองกลีบดอกมี 5 กลีบ
กลีบแยกออกจากกัน แต่ละกลีบแผ่กว้างซ้อนทับกัน
รูปไข่หรือรูปมนขนาด 2.0 x 3.7
ซม.ปลายแหลม ขอบเรียบ แผ่นกลีบมีลายเส้นร่างแหปรากฎชัดเจน
มีขนบางๆ ปกคลุมประปรายที่บริเวณกลางกลีบ
กลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูปปากแตร
คอดเข้าหากันที่ฐานเป็นหลอดสั้นๆ
ตอนบนบานแผ่กว้างแยกออกเป็น 5 กลีบ
มองจากด้านบนคล้ายกับรูปถ้วยตื้นๆ
เมื่อดอกบานเต็มที่กว้าง 12-16 ซม. กลีบดอกสีขาวสะอาด
แต้มด้วยจุดสีเขียวเรื่อๆ ที่ใจกลางกลีบดอก
ซึ่งเป็นบริเวณที่เกสรผู้ 5 อันติดอยู่
ก้านเกสรแต่ละอันแยกออกจากกันเป็นอิสระ
แล้วโค้งอับเรณูมาประกบติดกัน อับเรณูค่อนข้างยาว
ลักษณะคล้ายหัวลูกศร
ตุ่มเกสรเมียอยู่ภายในปริมณฑลของอับเรณูทั้ง 5 อัน
รังไข่ตั้งอยู่ที่ฐานกลีบดอกซึ่งเป็นหลอดแคบๆ
มีน้ำหวานขังอยู่รอบนอก ฝักรูปบรรทัด ขนาดประมาร 5.5
x 37.0 ซม. ผนังหนาและแข็งมาก
ฝักแก่ผนังปริแยกออกจากกันเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดแบนๆ
สีน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ยาวประมาณ 1.7 ซม.
ที่ส่วนปลายของเมล็ดมีขนยาวอ่อนนุ่มติดอยู่เป็นกระจุก
ยาว 3.5-5.0 ซม. ออกดอกเดือนธันวาคม-มกราคม
ประโยชน์ :
ปลูกเป็นไม้ประดับ ประโยชน์ทางยา
ตำรายาไทย เมล็ดเป็นยาบำรุงหัวใจ
เนื่องจากมีสารจำพวก "คาร์ดีโนไลด์"
ส่วนโทษ เมล็ดหากรับประทาน มากอาจถึงตายได้
|