ชื่อวิทยาศาสตร์ Magnolia sirindhorniae  Noot & Chalermglin
 วงศ์ MAGNOLIACEAE
 ชื่อสามัญ -
 ชื่อพื้นเมือง

 จำปา  จำปีสัก (ลพบุรี)

 ลักษณะทั่วไป

ต้น  ไม้ต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูง 20-30 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นที่ระดับอก 50-200 เซนติเมตร  เปลือกโคนต้นสีน้ำตาล หนา 0.5 - 1 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เปลือกแตกเป็นร่องลึกตามยาว ลำต้นเปลาตรง กิ่งที่อยู่ในระดับสูงมีเปลือกสีขาว กิ่งอ่อนมีสีเขียวอมน้ำตาล มีช่องอากาศเป็นจุดหรือขีดนูนกระจาย ทรงพุ่มกลมโปร่ง เนื้อไม่และกิ่งเหนียว
ใบ    รูปรี กว้าง 7-10 เซนติเมตร ยาว 14-20  เซนติเมตร โคนใบมนกลม หรือรูปลิ่ม ปลายใบมนทู่ถึงแหลม ผิวใบด้านบนมีขนเล็กน้อย สีเขียวอมเหลือง มีเส้นกลางใบนูนเล็กน้อย และมีเส้นแขนงใบเป็นร่อง ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีขน มีเส้นเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนเด่น เนื้อใบหนา แข็งกรอบ ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบมี 10-12 คู่ ก้านใบยาว 2.5-4.5 เซนติเมตร รอยแแผลเป็นของหูใบแนบโคนก้านใบยาวสองในสาม ของความยาวของก้านใบ
ดอก  ออกเดี่ยวที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกตูมรูปกระสวย มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร กาบหุ้มดอกมี 1 แผ่น สีเขียวอ่อนและมีขนอ่อนๆ คลุมอยู่ กาบฉีกออกและหลุดไปเมื่อกลีบดอกเริ่มแย้ม ก้านดอกยาว 1.8 เซนติเมตร ดอกบานตั้งขึ้น สีขาวนวล กลีบดอกมี 12-15 กลีบ เรียงเป็นชั้นๆ ละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกรูปหอกแกมขอบขนาน กว้าง 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาว 4.5-5 เซนติเมตร ปลายกลีบมนกลม เมื่อเริ่มแย้มโคนกลีบดอกด้านนอกมีสีเขียวอ่อน  กลีบดอกชั้นในมีขนาดแคบและสั้นกว่าเล็กน้อย เริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมตั้งแต่พลบค่ำ ดอกบานอยู่ได้ 2 วัน เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย ผล   ผลเป็นช่อยาว 4-6 เซนติเมตร ก้านช่อผลยาว 4 เซนติเมตร มีผลย่อย 15-25 ผล แต่ละผลเรียงติดอยู่บนแกนกลางผลและไม่มีก้านผลย่อย ผลรูปกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ผิวของผลมีช่องอากาศเป็นจุดๆ สีขาว ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน  ผลย่อยแตกตามแนวยาว แต่ละผลมี 1-6 เมล็ด เมล็ดสีแดงเข้มรูปกลมรี ยาว 4-6 มิลลิเมตร
ช่วงการออกดอกและติดผล  
ออกดอกบาน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
นิเวศวิทยาและถิ่นกำเนิด   จำปีสิรินธรเป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย (Endemic to Thailand) คือมีขึ้นอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และมีขึ้นอยู่เฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำหรือในป่าพรุน้ำจืดที่มีน้ำพุไหลผ่านตลอดเวลา สำรวจพบครั้งแรกในป่าพรุน้ำจืดของบ้านซับจำปา ตำตลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี  ในพื้นที่รวมกันประมาณ 80 ไร่ ในระดับความสูงประมาณ 50 เมตร พื้นที่โดยรอบห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นเขาหินปูน เมื่อมีฝนตกแล้วน้ำจากเขาหินปูนนี้จะซึมลงใต้ดินและไหลรวมเป็นน้ำใต้ดิน มาพุขึ้นในป่าบ้านซับจำปา น้ำในบริเวณนี้จึงมีความเป็นด่างสูงกว่าในพื้นที่อื่น
        ต่อมาสำรวจพบในป่าพรุน้ำจืดของบ้านน้ำสวย ตำบลน้ำสวย อำเภอเมือง จังหวัดเลย ซึ่งมีพื้นที่รวมกันประมาณ 30 ไร่ ในระดับความสูงประมาณ 165 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่สูง 30 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เมตร อยู่มากกว่า 30 ต้น

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

  

 
 
 
 
 
 
 
 


พรรณไม้เมืองสยาม  Home