ไผ่
Bambusa  spp.
 





 
ชื่อพื้นเมือง* แตกต่างกันไปตามชนิดของไผ่
ชื่อบาลี * แตกต่างกันไปตามชนิดของไผ่
ชื่อวิทยาศาสตร์* แตกต่างกันไปตามชนิดของไผ่
ชื่อสามัญ Bamboo
ชื่อวงศ์  Gramineae (Poaceae)
ถิ่นกำเนิด ส่วนใหญ่ในเขตร้อน เช่น อินเดีย ไทย ฯลฯ ในเขตอบอุ่นมีบ้าง
สภาพนิเวศน์ พบตามป่าที่ระดับต่ำกว่า 300 เมตร
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด แยกเหง้า ปักชำต้นที่มีข้อติดอยู่ด้วย
ประโยชน์ ใบปรุงเป็นยาขับฟอกระดู ใบต้มกับน้ำขับพยาธิ ตาใบผสมกับพริกไทยดำและเกลือเล็กน้อยใช้ขับพยาธิ รากใช้รักษาเกลื้อน ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะและแก้หนองใน (รากไผ่นิยมใช้รากไผ่รวก) หน่อไม้ใช้เป็นอาหาร ผลหุงรับประทานเหมือนข้าว ไม้ไผ่ ใช้จักสาน สร้างบ้าน ทำหมวก ทำตอกเย็บของ ฯลฯ
 


          ไผ่ มีความสำคัญในพุทธประวัติมาก เพราะเป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาเรียก "เวฬุวนาราม" โดยพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ถวาย ต่อมาพระอรหันต์ (พระขีณาสพ) จำนวน 1,250 รูป ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ อารามแห่งนี้โดยมิได้มีการนัดหมาย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม พระพุทธองค์ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันประกาศหลักสามประการของพระพุทธศาสนาเรียกว่า "โอวาทปาฏิโมกข์" ชาวพุทธทั้งหลายจึงถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นั่นคือ "วันมาฆะบูชา" สืบเนื่องกันมาตราบเท่าทุกวันนี้


          ไผ่  มีจำนวนมากมายหลายสกุลหลายชนิด ทั่วโลกน่าจะมีมากกว่า 1,000 ชนิด ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 50 ชนิด
          ไผ่  เป็นพืชที่มีสกุลหลายสกุล  และหลายชนิด เป็นพืชในวงศ์เดียวกับหญ้า ข้าว คือวงศ์ " Gramineae" หรือ " Poaceae "
          ลักษณะ  เป็นพืชที่มีเนื้อไม้แข็ง ความสูงแล้วแต่ชนิด อาจสูงได้ถึง 30 เมตร ขึ้นรวมกันเป็นกอใหญ่ มีเหง้าใต้ดินมีลักษณะแข็ง ลำต้น ตรง มีข้อและปล้องชัด มีกาบแข็งสีฟางหุ้ม (culm sheath) มีตาที่ข้อ ปล้องกลวง ไผ่ที่มีลำโตที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร ปล้องยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปหอก หรือรูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลม ขอบใบสากคายมีขนทั่วไป  ดอก  ช่อยาวออกตามซอกใบ และปลายกิ่ง ผล มีขนาดเล็กมาก มี 1 เมล็ด ไผ่ออกดอกแล้วต้นจะตาย
 

 


* ชื่อพื้นเมือง ชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อสามัญ แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด เช่น
 

ชื่อพื้นเมือง
ชื่อวิทยาศาสตร์
ชื่อสามัญ

ไผ่ป่า ,ไผ่หนาม
Bambusa arundinacea  Willd.
Thorn Bamboo, Spiny Bambo

   

ชื่อพื้นเมือง
ชื่อวิทยาศาสตร์
ชื่อสามัญ

ไผ่งาช้าง
Bambusa vulgaris   schrad.
Feathery Bamboo

   

ชื่อพื้นเมือง
ชื่อวิทยาศาสตร์
ชื่อสามัญ

ไม้ซาง
Dendrocalamus strictus  Nees
Male Bamboo

   

ชื่อพื้นเมือง
ชื่อวิทยาศาสตร์
ชื่อสามัญ

ไผ่เหลือง
Phyllostachys aurea  Riv.
Yellow Bamboo

   

ทุกชนิดอยู่ในวงศ์  Gramineae (Poaceae) ชื่อบาลี เวฬุ (เว-รุ), ตจสาโร (ตะ-จะ-สา-โร), เวณุ (เว-นุ), วํ โส (วัง-โส)