ความหลากหลายของปลวกในประเทศไทย

 
   

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปลวก
 

          ปลวกจัดเป็นแมลงสังคมที่มีชีวิตความเป็นอยู่สลับซับซ้อน แบ่งออกเป็น 3 วรรณะ ซึ่งมีรูปร่างและหน้าที่แตกต่างกันชัดเจน โดยวรรณะกรรมกรหรือปลวกงาน ทำหน้าที่หาอาหาร และสร้างรัง วรรณะทหารทำหน้าที่ป้องกันศัตรูที่เข้ามารบกวนประชากรภายในรัง และวรรณะสืบพันธุ์ หรือในบางช่วงของวงจรชีวิตเรียงว่าแมลงเม่านั้น จะทำหน้าที่สืบพันธุ์และวางไข่
          จากความแตกต่างของสภาพทางชีววิทยา นิเวศวิทยา และชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงอุปนิสัยในการสร้างรัง และการกินอาหารของปลวกแต่ละชนิด สามารถจำแนกปลวกได้เป็น ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
       1.  แบ่งตามประเภทของอาหาร และอุปนิสัยในการสร้างรัง สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทดังนี้
          1.1  ปลวกกินเนื้อไม้  พบได้ทั้งชนิดที่สร้างรังอยู่ใต้พื้นดิน ชนิดสร้างรังขนาดเล็กอยู่บนดิน หรือบนต้นไม้ ซึ่งจัดเป็นปลวกใต้ดิน และบางชนิดอาศัยอยู่กินภายในเนื้อไม้ ที่เรียกว่าปลวกไม้แห้งหรือปลวกไม้เปียก
          1.2  ปลวกเพาะเลี้ยงเชื้อรา  จะกินอาหารทั้งเนื้อไม้ เศษไม้ ใบไม้ และเชื้อราที่เพาะเลี้ยงไว้ภายในรัง พบทั้งชนิดที่สร้างรังอยู่ใต้พื้นดิน และสร้างรังขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่บนดิน
          1.3  ปลวกกินดิน และอินทรีย์วัตถุ  พบได้ทั้งชนิดที่สร้างรังอยู่ใต้พื้นดิน และสร้างรังขนาดเล็กอยู่บนพื้นดิน
          1.4  ปลวกกินไลเคน  ส่วนใหญ่พบสร้างรังบนดินบริเวณโคนต้นไม้

       2.   แบ่งตามชนิดของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร
            ในกระบวนการกิน และการย่อยอาหาร ปลวกจะไม่สามารถผลิตน้ำย่อย หรือเอนไซม์ ออกมาย่อยอาหารได้เอง แต่จะต้องพึ่งพาจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่อาศัยร่วมอยู่ภายในระบบทางเดินอาหารของปลวก เช่น
protozoa, bacteria หรือเชื้อรา ให้ผลิตเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น cellulase และ lignocellulase ออกมาย่อย cellulose หรือ lignin  ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในอาหารที่ปลวกกินเข้าไปให้เปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือสารประกอบในรูปที่ปลวกสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ เราสามารถแบ่งประเภทปลวกตามชนิดของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
          2.1  ปลวกชั้นต่ำ  ส่วนใหญ่เป็นปลวกชนิดที่กินเนื้อไม้เป็นอาหาร จะอาศัย
protozoa ซึ่งอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารช่วยในการผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยอาหาร สำหรับในประเทศไทยพบทั้งหมด 3 วงศ์ (family) คือ Kalotermididae, Termospsidae และ Rhinotermitidae
          2.2  ปลวกชั้นสูง  ส่วนใหญ่เป็นปลวกชนิดที่กินดิน ซากอินทรีย์วัตถุ ไลเคน รวมถึงพวกที่กินเศษไม้ ใบไม้ และเพาะเลี้ยงเชื้อราไว้เป็นอาหาร จะมีวิวัฒนาการที่สูงขึ้น เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดได้ในสภาพนิเวศที่แห้งแล้งหรือขาดอาหารได้ดี โดยอาศัยจุลินทรีย์จำพวก bacteria หรือเชื้อราภายในระบบทางเดินอาหาร ทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยอาหารให้กับปลวก ซึ่ง bacteria บางชนิด จะมีความสามารถในการจับธาตุไนโตรเจนจากอากาศ มาสร้างเป็นกรดอะมิโนที่ปลวกสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ และบางชนิดมีความสามารถผลิตเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายพิษบางอย่างที่สลายตัวได้ยากในสภาพแวดล้อม ในประเทศไทยพบปลวกชั้นสูงนี้อยู่ในวงศ์ Termitidae

 
   
   
   
   
   
   
   
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   

 

    Home      : ากหนังสือ ความหลากหลายของปลวกในประเทศไทย ,สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้