ย้อนกลับ

" สัตว์ป่าล้วนน่ารัก  จงช่วยกันพิทักษ์และรักษา "


             

          ....................................................................

หน้าหลัก




มรดกจากธรรมชาติอันสวยงาม บริเวณเกาะรัง
ซึ่งเป็นถิ่นอาศัย (หลับนอน) ของค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน
และค้างคาวปีกพับใหญ่ นับแสนตัว



ค้างคาวปีกพับใหญ่ (Greater Bent-Winged Bat)
ขณะบินออกจากถ้ำบริเวณเกาะรัง
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2546




ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนหรือค้างคาวแม่ไก่ใหญ่
ซึ่งเป็นค้างคาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบใน
ประเทศไทยซึ่งมีน้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัม
จับได้บริเวณเขาใน เกาะช้าง จ.ตราด
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546


ลิงลม, นางอาย (Slow Loris) "สัตว์ป่าผู้น่ารัก"
ในพื้นที่โครงการฯ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ. ชลบุรี


งูเหลือมขนาดใหญ่ ( Python reticulatus )
ความยาวประมาณ 3 เมตร ขณะขึ้นต้นไม้
บริเวณป่าทึบกลางเกาะกูด จ.ตราด 
พบเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2543



เก้งหรือฟาน ( Common Barking Deer )
ถ่ายโดยอุปกรณ์ดักถ่ายภาพ (
Camera trapping)
บนเกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543

 

     แต่ในชั่วระยะเวลาไม่ถึงศตวรรษพื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ได้ลดลงจนเหลือไม่ถึงร้อยละ 20 ทำให้สายน้ำตามธรรมชาติกำลังจะเหือดแห้ง พรรณพืชลดลง สัตว์ป่าถูกคุกคามและไร้ถิ่นอาศัย บางชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ บางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้วส่งผลโดยตรงต่อมวลมนุษย์ที่กำลังสูญเสียแหล่งรักษาความสมดุลทางธรรมชาติซึ่งจะกระทบต่อการดำรงชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยาวไกล
     ความหลากหลายทางชีวภาพ (
biological diversity หรือ biodiversity) หมายถึงการมีสิ่งมีชีวิตมากมายหลากหลายสายพันธุ์ (genes) และ ชนิด (species) อาศัยอยู่ร่วมกันในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่  ความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity)  ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ (species diversity) และความหลากหลายทางระบบนิเวศ (ecological diversity) ประเทศไทยนอกจากจะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแล้วจากตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ ยังเป็นเสมือนจุดบรรจบของเขตกระจายพันธุ์พืชและสัตว์ป่าหลายเขต กล่าวคือ เป็นเขตซ้อนทับของกลุ่มพรรณพฤกษชาติ (Floristic Region) ถึง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม อินโด-เบอร์มีส (Indo-Burmese elements) กลุ่มอินโด-ไชนิส (Indo-Chinese elements) และกลุ่มมาเลเซีย (Malaysian elements) ในส่วนของสัตว์ป่านั้น ประเทศไทยถือเป็นจุดทับซ้อนของเขตสัตว์ภูมิศาสตร์ (Zoological Region) ถึง 3 เขตเช่นกัน ได้แก่ เขตชิโน-หิมาลัย (Sino-Himalayan) เขตอินโด-ไชนิส (Indo-Chinese) และเขตซุนดา (sundaic)
     ความหลากหลายด้านพรรณพฤกษชาติซึ่งเสมือนผู้ผลิต (producer) นักพฤกษศาสตร์ประมาณว่าในโลกมีพันธุ์พืชประมาณ 250,000 ชนิด ประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 15,000 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 8 ของพรรณพืชทั่วโลกหรือประมาณ 300 วงศ์ สำหรับความหลากหลายด้านสัตว์ป่าซึ่งเสมือนผู้บริโภค (consumer) ปัจจุบันสัตว์ที่พบและจำแนกชนิดแล้วในโลกมีมากว่า 1.5 ล้านชนิด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือสัตว์มีกระดูกสันหลัง (vertebrate) ทั่วโลกมีประมาณ 41,600 ชนิด ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate) ซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกคือประมาณร้อยละ 96 ของสัตว์ในโลกทั้งหมด ได้แก่ แมลง กุ้ง หอย ปู เป็นต้น
     สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในโลกมีประมาณ 4,500 ชนิด สำหรับประเทศไทยพบแล้ว จำนวน 297 ชนิด ซึ่งร้อยละ 6 เป็น ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น (
endemic animals) lของประเทศไทย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้วิวัฒนาการแยกย่อยออกเป็นอีกหลายกลุ่มทั้งอาศัยอยู่บนดิน ใต้ดิน บนต้นไม้ ในถ้ำ และในน้ำ เช่น พวกลิง (Order Primates) สัตว์ฟันแทะ (Order Carnivora) และสัตว์กีบคู่ (Order Artiodactyla) เป็นต้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มค้างคาว (Order Chioptera) มีจำนวนถึง 111 ชนิด ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน หรือค้างคาวแม่ไก่ใหญ่ (Common Flying Fox) จัดเป็นค้างคาวชนิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พบที่เกาะช้างบริเวณเขาในซึ่งเป็นถิ่นหากินและบริเวณเกาะรัง ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยหลับนอน โดยสำรวจพบภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2546 สำหรับค้างคาวคุณกิตติ (Kitti's Hog nosed Bat) จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบเพียงแห่งเดียวในโลก บริเวณอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี นับเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ซึ่งมีความยาวไม่เกิน 3.3 เซนติเมตร น้ำหนักเพียง 2 กรัม ซึ่งองค์การ IUCN ได้จัดให้ค้างคาวคุณกิตติ เป็นสัตว์ 1 ใน 12 ชนิดแรกของโลกที่ใกล้จะสูญพันธุ์
     ความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยนับเป็นมรดกจากธรรมชาติที่มีคุณค่ายิ่ง ทรัพยากรเหล่านี้อยู่รวมกันเป็นระบบนิเวศที่ซับซ้อนและเกื้อกูลซึ่งกันและกันภายใต้สภาวะที่สมดุล กลไกของระบบนิเวศที่ดำเนินการไปตามปกติจะต้องประกอบด้วย พืชสีเขียว คือผู้ผลิต (
producer) สรรพสัตว์ คือผู้บริโภค (consumer) และจุลินทรีย์ คือผู้ย่อยสลาย (decomposer) บทบาทของผู้บริโภคอันได้แก่สรรพสัตว์ทั้งมวลก่อให้เกิดห่วงโซ่และสายใยแห่งอาหาร (food chain and food web) ความซับซ้อนของระบบนิเวศแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนสรรพสิ่งที่มีชีวิตเป็นองค์ประกอบ หากมีจำนวนสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะสัตว์มากชนิด การถ่ายทอดพลังงานและการหมุนเวียนของแร่ธาตุอาหารในระบบนิเวศ ก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยาวนาน
     แม้ว่าประเทศไทยจะมีความหลากหลายชนิดของพันธุ์สัตว์ป่าสูงมาก แต่โดยความเป็นจริงในปัจจุบัน สัตว์ป่าหลายชนิดกำลังถูกคุกคาม หลายชนิดถูกล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ และอีกหลายชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น สมัน (
Cervus schomburgki ) กวางที่มีเขาสวยงามที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของไทยที่ได้ถูกล่าจนหมดไปจากประเทศไทยและจากโลกตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ส่วนสัตว์ป่าอีกเป็นจำนวนมากกำลังตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อันเนื่องมาจากการพัฒนาและการเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์ของประเทศ
     มรดกอันทรงคุณค่าจากธรรมชาติดังกล่าวหากรู้จักใช้อย่างรู้คุณค่าย่อมจะเกื้อหนุนต่อชีวิตของมวลมนุษยชาติได้อย่างยาวนานและยั่งยืน ทั้งด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ทั้งยังเอื้อประโยชน์ด้านนันทนาการอันจะเป็นการขัดเกลาจิตใจให้เกิดความรักความเข้าใจและความหวงแหนต่อมรดกจากธรรมชาติที่มีอยู่  ความหลากหลายทางชีวภาพจึงหมายถึงความหลากหลายของคุณประโยชน์นานาประการที่มวลมนุษย์พึงได้รับจากธรรมชาติ หากเหล่ามนุษย์ทั้งหลาย ยังตระหนักและรู้จักคุณค่าของมรดกจากธรรมชาติเหล่านั้น
"สรรพสัตว์ล้วนน่ารัก จงช่วยกันพิทักษ์และรักษา"