หน้าหลัก                                                                                                                               

 
 
  •   6. การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกมีผลกระทบต่อกระบวนการทางชีวภาพ

              กระบวนการทางธรณีที่ทำให้เปลือกโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป มี่อยู่สามแบบคือ กระบวนการที่เกิดบนพื้นผิวโลก  กระบวนการที่เกิดภายในโลกหรือในเปลือกโลก และกระบวนการที่มีสิ่งมาจากนอกโลกมากระทำบนผิวโลก (เช่นอุกาบาตชนโลก)  สองกระบวนการแรกดูสำคัญที่สุด ผลของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากคือการเกิดสภาพภูมิศาสตร์ของโลก เช่น เทือกเขา ทะเล ที่ราบต่างๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อกระบวนการทางชีวภาพ  ตัวอย่างที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงของผิวโลกคือการกัดเซาะทำให้เกิดตะกอนและเขาสูงก็จะราบลง ตะกอนถูกพามาทับถมในที่ต่ำกลายเป็นที่ราบ ส่วนสุดท้ายตะกอนก็จะถูกพาลงไปในทะเล
              ถ้าการกัดเซาะเกิดขึ้นตลอดเวลาตั้งโลกเรามีน้ำ หรือมีอุทกภาค โลกเราในบั้นปลายจะราบไปหมดใช่หรือไม่  คำตอบคือไม่ใช่ เพราะจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในเปลือกโลกเกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วยนับตั้งแต่โลกเราเกิดมาเมื่อ 4.5 พันล้านปีมาแล้ว นั่นคือเปลือกโลกมีการบีบอัดดันตัวทำให้บางส่วนยกตัวสูงขึ้นกลายเป็นเทือกเขา หรือบางส่วนของเปลือกโลกแยกตัวออกเปิดเป็นทะเล  การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้เกิดขึ้นทุกยุคสมัยทางธรณี ตัวอย่างที่สำคัญ คือ เทือกเขาหิมาลัย เกิดการยกตัวสูงขึ้นเพราะแผ่นเปลือกโลกทางทวีปอินเดียเลือนขึ้นมาชนกับแผ่นเปลือกโลกทางตอนใต้ของจีน ทำให้เกิดเทือกเขาสูงอันยิ่งใหญ่คือ หิมาลัย ขึ้นมา  เทือกเขาสูงทางภาคเหนือของไทยก็เช่นเดียวกัน นักธรณี สันนิษฐานว่า เกิดจากแผ่นทวีปทางตะวันออกของประเทศเมียนมาร์ มาชนกับแผ่นทวีปทางตะวันตกของอินโดจีน การเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลกนี้เรียกว่า ธรณีแปรสัณฐาน (Tactonics)
              การที่บางส่วนของเปลือกโลกเคยเป็นทะเล ปัจจุบันกลายเป็นภูเขา เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้หลายยุค หลักฐานได้แก่การพบซากดึกดำบรรพ์ (Fossils) ของสัตว์ทะเลในภูเขาต่างๆ ในปัจจุบัน เป็นตัวชี้บอกอย่างหนึ่งถึงการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ซึ่งหมายถึงการเกิดลักษณะภูมิศาสตร์ของโลกนั่นเอง  และมวลสิ่งมีชีวิตก็มีการกระจายมีการวิวัฒนาการไปตามสภาพภูมิศาสตร์เหล่านั้นตั้งแต่ประมาณ 700 ล้านปีมาแล้ว
              อ่าวไทยของเราเมื่อประมาณ 20,000 ถึง 18,000 ปีมาแล้ว เคยเป็นผืนแผ่นดิน มีหลักฐานจากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เจาะผ่านลงไปในตะกอนที่เกิดจากแม่น้ำลำธารพาสมา รองรับอยู่ภายในอ่าวไทย นั่นคือ ยุคนั้น เกาะแก่งต่างๆ ในอ่าวไทย คงเป็นเพียงภูเขาธรรมดาๆ ในพื้นดิน สิ่งมีชีวิตก็คงเคลื่อนย้ายไปตามที่ต่างๆ ตามธรรมชาติของมัน เมื่อน้ำแข็งเป็นปริมาณมากของโลกละลาย ระดับน้ำก็สูงขึ้น รุกเข้าไปล้อมรอบภูเขา ทำให้กลายเป็นทะเล อย่างในสภาพปัจจุบัน จึงเกิดเกาะต่างๆ ขึ้น สัตว์หรือพืช ที่เคยอยู่ตามเกาะเหล่านั้น คงจะมีวิวัฒนาการตามสภาพที่โดดเดี่ยว ไม่เหมือนสภาพที่เป็นผืนแผ่นดินตลอด ดังนั้นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่น่าจะกระทำขนานกันไปกับการศึกษาการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
    บทสรุป 
              เมื่อกล่าวถึงธรรมชาติ  หิน ดิน ทราย ต้นไม้ ภูเขา จะเป็นสิ่งมนุษย์เรานึกถึงกัน เนื่องจากเป็นสิ่งแวดล้อมที่พบเห็นกันโดยทั่วไป จนบางครั้งมนุษย์เราลืมนึกถึงความสำคัญของธรรมชาติเหล่านี้  หินเป็นตัวแทนของธรรมชาติอย่างแรกที่เป็นตัวแปรของชีวิตและความงาม ก้อนหินแต่ละก้อนเป็นเสมือนประติมากรรมที่ถูกสร้างสรรค์โดยธรรมชาติ  Isamu Noguchi  ประติมากรผู้มีชื่อเสียงชาวญี่ปุ่นเชื้อสายอเมริกัน ได้กล่าวว่า หินแต่ละก้อนนั้นมีความงดงามสมบูรณ์แบบในตัวเอง และเป็นประติมากรรมที่ถูกสร้างสรรค์โดยกาลเวลาและธรรมชาติที่มีลักษณะเฉพาะตัว  เป็นความงามทางทัศนธาตุ (Visual Element) ซึ่งมนุษย์เราสามารถรับรู้ถึงความงามนั้นได้โดยอาศัยการสังเกตที่ละเอียดอ่อนและการจัดแสดงที่แฝงไว้ด้วยความคิดทางปรัชญา เช่น การจัดสวนหินของชาวญี่ปุ่น เป็นต้น
              นอกจากความงามของหินและแร่ธาตุต่างๆ ที่ผสมปนเปอยู่ในหินแต่ละก้อนแล้ว ก้อนหินยังเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตในธรรมชาติที่น่าทึ่งอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย โดยการจัดการของเวลา หินแต่ละก้อนผ่านประวัติศาสตร์ที่ยาวนานด้วยการกัดกร่อนของกาลเวลา น้ำ อากาศ และมวลชีวิต รวมทั้งการไชชอนของรากต้นไม้ ได้แปรสภาพให้หินกลายเป็นดินและแร่ธาตุต่างๆ ในดิน อันเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพืชไปจนถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย อาจกล่าวได้ว่าสรรพชีวิตในโลกนี้มีส่วนเกี่ยวพันกับหิน และดินมาตั้งโลกอดีตจนถึงปัจจุบัน และคงเข้าสู่โลกอนาคตด้วย
      กิตติกรรมประกาศ

 

หน้าหลัก