หน้าหลัก                                                                                                                               


 
 


















 

 

  •   4. ลักษณะทางกายภาพที่เอื้อต่อการเกิดพืชพรรณ
              ลักษณะทางกายภาพ เช่น โครงสร้างหินที่รองรับพื้นที่ ความสูงต่ำลาดเอียง ชนิดของหินที่รองรับพื้นที่  ทำให้เกิดความเฉพาะตัว และความหลากหลายของพืชพรรณ สิ่งที่เป็นตัวควบคุมสำคัญอันเป็นผลโดยตรงจากลักษณะทางกายภาพดังที่กล่าวมาแล้วคือการเกิดดิน หรือการทำให้เกิดตะกอนถูกพัดพามา ณ จุดใดจุดหนึ่งได้มากว่าอีกจุดหนึ่ง  ความหนาของชั้นดินก็เป็นผลสืบเนื่องตามมาด้วยดังนี้

                      
                                      ภาพ 7                                                                    ภาพ 8
    -
    ความลาดชันของพื้นที่ บริเวณที่มีความลาดชันสูง จะเกิดการกัดเซาะได้ง่าย พาเอาเนื้อดินออกไปได้ตลอด โดยเฉพาะชั้นหน้าดิน ทำให้มีชั้นดินบาง เช่น บริเวณเชิงเขาที่สูงชันมาก ส่วนบริเวณที่มีความชันลดลงมา การกัดเซาะจะเกิดน้อย แต่จะมีการทับถมของตะกอนมาก หน้าดินจะหนาขึ้นบริเวณที่ราบ ซึ่งมีแต่ตะกอนมาทับถมชั้นดินก็จะหนามาก (ภาพ7)
    โครงสร้างของชั้นหิน (โครงสร้างทางธรณี)  ที่รองรับภูมิประเทศ การวางตัวของชั้นหินที่รองรับ ถ้าเป็นแนวราบหรือเกือบราบ เช่น ที่ราบสูง การกัดเซาะในส่วนที่ราบก็มีน้อย มีแต่การทับถมตะกอน ชั้นดินก็เกิดหนา บริเวณใดที่มีชั้นหินโก่งงอเอียงไปเอียงมาทำให้เกิดเป็นภูเขาสูง ก็เกิดการกัดเซาะมากทำให้ได้ชั้นดินบาง
    ชนิดของหิน  ที่รองรับภูมิประเทศ หินประกอบด้วยแร่ต่างๆ ดังนั้นความหลากหลายของหินก็ทำให้เกิดความหลากหลายของแร่ที่ประกอบในหินนั้น หินที่ประกอบด้วยแร่ผุพังได้ง่ายก็เกิดหน้าดินหนา  เช่น ที่บริเวณภาคตะวันออกแถบจันทบุรี มีหินรองรับเป็นหินภูเขาไฟบะซอลท์ เกิดชั้นดินได้หนามาก ส่วนบริเวณใดที่มีหินรองรับประกอบด้วยแร่ผุพังได้ยาก ทนทานต่อการกัดกร่อน ก็เกิดหน้าดินบางเมื่อเปรียบเทียบกัน  สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ แร่ธาตุที่ประกอบในหินแตกต่างกัน ซึ่งเกี่ยวข้องต่อเนื่องกับความสมบูรณ์ของดินด้วย
    ลักษณะทางกายภาพของหิน ทำให้เกิดคุณสมบัติบางประการที่เอื้อต่อการเกิดพืชพรรณ เช่น หินที่มีรอยแตกอยู่มากมาย ทำให้พืชชอนรากเข้าไปยึดพยุงตัวเองไว้ได้  จะเห็นได้ว่าแม้แต่หน้าผาสูงชันไม่มีดินอยู่เลย แต่ก็ยังมีพืชขึ้นอยู่ได้ เพราะมีรอยแตกอยู่ในหินนั้น น้ำซึมซับเข้ามาได้ตลอดเวลา ทำให้มีความชื้นถูกกักเก็บไว้ พืชจึงอยู่ได้
     

  •  5. อนุภาคของดินเอื้อประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่อระบบนิเวศป่าชายเลน
              ความจริงในทุกระบบนิเวศบนบก ดินย่อมมีความสำคัญต่อระบบชีวิตอยู่แล้วดังได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น  แต่ที่ยกระบบนิเวศป่าชายเลนขึ้นมากล่าว เพราะระบบนี้เป็นส่วนต่อเชื่อมระหว่างบก และทะเล  ซึ่งยิ่งใหญ่มาก โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับลูกโซ่อาหารเบื้องต้นของสัตว์และมนุษยชาติ และอีกประการหนึ่ง คือ ตัวอนุภาคดินนั้นเป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบนิเวศนี้  และการดำเนินงานของคณะปฏิบัติการวิชาการในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ นั้น ศึกษาตั้งแต่บนบกถึงทะเล หรือดังพระราชดำริที่ให้ศึกษาตั้งแต่บนฟ้า ยอดเขา ลงไปถึงท้องทะเล ดินที่เกิดจากหินก็มีส่วนเกี่ยวข้องกันมาโดยตลอด


     ตารางที่ 1 การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของแร่เนื่องมาจากการผุพังตามธรรมชาติทำให้ได้แร่ดินเหนียว
              ตะกอนที่เกิดจากการกัดกร่อนผุพังของหิน  ถูกพัดพามากับน้ำจากเขาลงมายังเชิงเขา แม่น้ำ และท้ายสุดมาที่ปากแม่น้ำ สู่ระบบป่าชายเลน กว่าจะถึงปากแม่น้ำ ตะกอนจะถูกกัดกร่อนและมีปฏิกิริยาเคมีตามธรรมชาติเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่หินก้อนโต ลงไปเป็นกรวดเป็นทราย เป็นทรายแป้ง และเล็กลงไปมากๆ เป็นดินเหนียว (clay) ซึ่งดินเหนียวนี้จะมีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 1/256 มม. เสียอีก ตลอดระยะเวลาที่ถูกกัดกร่อนไปนี้ แร่ในหินจะถูกปฏิกิริยาเคมีเปลี่ยนแปลงไปโดยถูกละลายออกไปเรื่อยๆ ตามสมบัติเคมีเฉพาะตัว คือ มีทั้งละลายยากและละลายง่าย กลายเป็นไอออนอยู่ในน้ำนั่นเอง ตัวแร่เดิมก็เปลี่ยนส่วนประกอบเชิงเคมีไปด้วย หรือผลสุดท้าย คือกลุ่มแร่ดินเหนียว (Clay Mineral)  ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นอะลูมิโน ไฮโดร ซิลิเกต (Alumino Hydro Silicate) นั่นคือ  กลายเป็นกลุ่มแร่ซิลิเกต ที่จับเอาธาตุอะลูมิเนียม และโมเลกุลของน้ำเข้าไปไว้ในตัวดังตารางที่ 1

 

หน้าหลัก