-1-

 

 
         
 

          พรรณพืชหมู่เกาะช้างอาจจำแนก ไปตาม ชนิดป่าได้เป็น 8 ชนิด ได้แก่ พืชป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าพรุ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเชิงผา ป่าเหล่า และป่าหญ้า ประกอบไปด้วยพวกผักกูดหรือเฟิน พวกพืชเมล็ดเปลือยหรือ พวกสน พวกพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และพวกพืชใบเลี้ยงคู่ เท่าที่ทราบในขณะนี้มี พวกผักกูด 116 ชนิด พวกพืชเมล็ดเปลือย 7 ชนิด พวกพืช ใบเลี้ยงเดี่ยว 208 ชนิด และพวกพืชใบเลี้ยงคู่ 701 ชนิด รวมทั้งสิ้น 1,032 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นพรรณพืช ต้นแบบของประเทศไทยถึง 64 ชนิด ซึ่งในรายงาน จะใส่เครื่องหมาย “*” ไว้เป็นที่สังเกต และเพื่อความ สะดวกพอสมควรในการค้นหาจะได้แยกกลุ่ม และใน แต่ละกลุ่มจะแยกวงศ์เรียงตามลำดับอักษรโรมัน

            การศึกษาพรรณพืชหมู่เกาะช้างในระยะ เริ่มแรกต้องให้เกียรติแก่ ดร. โจฮันเนส ชมิดท์ นักพฤกษศาสตร์ ชาวเดนมาร์กและคณะที่เดินทาง เข้ามาสำรวจในระหว่าง พ.. 2442 (1899) ถึง พ.. 2443 (1900) ภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัย กรุงโคเปนเฮเกนและบริษัทคาร์ลเบิร์ก และในความ ร่วมมือของรัฐบาลไทยกับกองทัพเรือไทย คณะของ ดร. ชมิดท์ เดินทางโดยเรือกลไฟชื่อ “สยาม” ระหว่างทาง คณะฯ ถือโอกาสสำรวจเก็บสัตว์น้ำ แพลงก์ตอนพืช และพวกสาหร่ายทะเลมาตลอด เมื่อถึงประเทศไทย ไปตั้งฐานสำรวจที่แหลมด่าน เกาะช้าง ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน สำรวจบริเวณแหลมงอบ เกาะช้าง เกาะกระดาษ เกาะสวรรค์ เกาะคราม เกาะกูด เป็นส่วนใหญ่ เก็บรวบรวมพรรณไม้ได้ประมาณ 1,500 หมายเลข ทั้งหมดนำไปศึกษา ตรวจสอบหาชื่อชนิด
และเก็บรักษา ว้ที่พิพิธภัณฑ์พืช และพิพิธภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัย กรุงโคเปนเฮเกน ผลของการศึกษาพรรณพืช (บก) ทราบชื่อชนิดประมาณ 400 ชนิด และในจำนวนนี้พบว่า เป็นชนิดใหม่ ของโลก (new species) ถึง 47 ชนิด ท่าน ได้รวบรวมผลงานลงพิมพ์ในวารสารทางพฤกษศาสตร์ ของสมาคมเดนมาร์ก Botanisk Tidsskrift ภายใต้หัวข้อ เรื่อง Flora of Koh Chang ในปี พ.. 2444 (1901) - 2459 (1915) นับว่าเป็นการเปิดประตูด้านทรัพยากรธรรมชาติ ของไทยสู่โลกภายนอก เป็นครั้งแรก
             
หลังจากนั้นการสำรวจพืชเกาะช้างมีการสำรวจ ย่อย ๆ อีกหลายครั้งระหว่างนักพฤกษศาสตร์จาก กรม ป่าไม้กับนักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่น(มหาวิทยาลัย เกียวโต)และนักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก (มหาวิทยาลัยกรุงโคเปนเฮเกน) แต่ไม่ปรากฏผลงานใน การพิมพ์ผลงานเป็นหลักฐาน จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2543 คณะสำรวจทรัพยากรไทย ภายใต้โครงการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีกำลัง สำคัญจากหลายสถาบันและหลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล นครราชสีมา กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กองทัพเรือ โดยหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กรมวิทยาศาสตร์ กองทัพเรือ และกรมกิจการพลเรือน กองทัพเรือ เป็นหลัก เริ่มเข้าไปสำรวจที่เกาะกูด เกาะช้าง และเกาะใกล้เคียง ในช่วงเวลาต่าง กัน จนถึงปัจจุบัน (2550) ครั้งล่าสุด ที่เกาะกูดระหว่าง 1-5 ธันวาคม 2549 พรรณไม้ที่ได้ จากการสำรวจทั้งหมดนำมาวิเคราะห์หาชื่อชนิดเพิ่มเติม จากที่ ดร. โจฮันเนส ชมิดต์ เคยสำรวจไว้แต่เดิมไม่น้อยกว่า 600 ชนิด รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น ไม่น้อยกว่า 1,032 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นพรรณไม้ต้นแบบหรือเป็นชนิดใหม่ ของโลกจากประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 64 ชนิด ซึ่งใน รายงานจะใส่เครื่องหมาย “*” ไว้เป็นที่สังเกต และเพื่อให้เกิดความสะดวกในการค้นหา จึงได้แยก เป็นกลุ่มพวกผักกูดหรือเฟิน (Fern) กลุ่มพวกพืช เมล็ดเปลือย (Conifer) กลุ่มพวกพืชใบ เลี้ยงเดี่ยว (Monocotyledon) และกลุ่มพวกพืชใบเลี้ยงคู่ (Dicotyledon) และในแต่ละกลุ่มจะแยกวงศ์เรียง ตามลำดับอักษรโรมัน

               

แผนที่การสำรวจหมู่เกาะช้างของ ดร.โจฮันเนส ชมิดท์ ในปี พ.ศ.2444 (1901) - 2459 (1915)

 
     
  ทีมสำรวจ : ดร.จำลอง เพ็งคล้าย1*  พรชัย จุฑามาศ 2  ขจรศักดิ์ วรประทีป2  วิภารัตน์ เทพแก้ว 2  น.อ.อาภากร อยู่คงแก้ว ร.น.3  น.ต.จำลอง ภูเลื่อน3  

 

* 1สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน

     2 โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

    3 หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ

สำรวจและศึกษาพรรณพืชหมู่เกาะช้าง ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ "จากยอดเขาถึงใต้ทะเล ๒ สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว..สู่..ประโยชน์แก่มหาชน โดยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อ ตุลาคม 2550