ชายฝั่งทะเลเป็นบริเวณที่สำคัญในลักษณะหลายๆ ประการ ในภาพกว้างๆ
ก็คือเป็นบริเวณจุดเชื่อมต่อขององค์ประกอบสำคัญที่ประกอบกันเป็นโลก
ซึ่งได้แก่ น้ำ ธาตุ อากาศ และสิ่งมีชีวิต
แหล่งทรัพยากรชายฝั่งทะเลไม่ว่าจะเป็น ป่าชายเลน ป่าชายหาด หาดทราย
ชายทะเล แหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง ตลอดจนเกาะแก่งน้อยใหญ่ในทะเล
เป็นพื้นที่รวมไว้ซึ่งความหลากหลายของระบบนิเวศอันสลับซับซ้อน
จึงเปรียบเสมือนเกราะป้องกันภัยทางธรรมชาติ
และเป็นบ่อเกิดแห่งปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงอยู่ของสรรพชีวิต
อีกทั้งเป็นแหล่งความงดงามอันน่ามหัศจรรย์ของธรรมชาติ
จากอดีตกาลซึ่งสังคมไทยอยู่ด้วยความเรียบง่าย
มีวิถีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี
มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน
การเพิ่มของประชากรมีแนวโน้มสูงมากขึ้น
ซึ่งจะเกี่ยวพันไปถึงความต้องการใช้ทรัพยากร
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน ฯลฯ
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ
และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี
ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งดีและร้ายต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรชายฝั่งก็หลีกหนีปัญหานี้ไม่พ้นเช่นกัน
ภาวะทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมและปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษได้ปรากฏชัดเจนในบริเวณชายทะเลเกือบทุกแห่งหากไม่มีมาตรการที่จะแก้ไข
และผู้ใช้ประโยชน์ไม่มีจิตสำนึกที่จะอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลไว้
ในที่สุดผลสะท้อนกลับก็จะตกสู่มนุษย์อย่างไม่มีทางเลี่ยงได้
การประกาศพื้นที่ต่างๆ
ให้เป็นเขตคุ้มครองตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504
ที่เรียกว่า อุทยานแห่งชาติทางทะเล
เป็นแนวทางหนึ่งที่จะได้นำหลักการจัดการ
และวิธีการควบคุมดูแลให้ทรัพยากรเหล่านั้น
สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อระบบนิเวศให้คงสภาพความสมดุลตามธรรมชาติ
ในอันที่จะก่อประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ต่อไป
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวให้ได้ผล
ต้องรู้ซึ่งถึงองค์ประกอบและความเป็นไปของธรรมชาติเหล่านั้น
รวมทั้งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ
วิถีชีวิตของมนุษย์อันประกอบด้วยโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ
วัฒนธรรมและประเพณีของคนที่อยู่ในท้องถิ่น
ปัจจัยดังกล่าวล้วนแต่มีผลต่อความยั่งยืนของทรัพยากรทั้งสิ้น
กรมป่าไม้ โดยส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล
ถือเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งในการที่จะดูแลรักษาทรัพยากรที่สำคัญนี้
ให้เอื้ออำนวยต่อสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดอย่างยั่งยืนสืบไป
ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล... สิงหาคม 2538
|