แมงกะพพรุนบริเวณเกาะแสมสาร

แมงกะพรุนที่ถ่ายได้บริเวท่าเทียบเรือเขาหมาจอ



แมงกะพรุนกับเต่าทะเล ถ่ายภาพโดย
คณะปฏิบัติงานวิทยาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ในการสำรวจหมู่เกาะสิมิลัน
เมื่อเดือนเมษายน 2553



แมงกะพรุนกล่อง พบที่เกาะพีพี
เป็นชนิดที่มีพิษร้ายแรงอาจถึงตายได้



พิษจากแมงกะพรุนที่เกิดที่ผิวหนัง

แมงกะพรุน..สัตว์ทะเลผู้มาเยือนในฤดูฝน  
เก็บมาฝากโดย
   พี่แอ๊นท์

      
          สวัสดีค่ะ วันนี้มีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนไซโฟซัว Order Rhizostomae จากเกาะแสมสารมาฝาก เนื่องจากช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ทะเลมีคลื่นลมค่อนข้างแรง จึงมีโอกาสพบเห็นแมงกะพรุนกลุ่มนี้ได้ค่อนข้างมาก สำหรับผู้ที่จะไปท่องเที่ยวทะเล ควรระมัดระวังกันนะคะ

          แมงกะพรุนไซโฟซัว Order Rhizostomae ที่เห็นในภาพพบล่องลอยอยู่ในทะเล บริเวณเกาะแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นแมงกะพรุนขนาดใหญ่ มีร่มเป็นรูปครึ่งวงกลม ผิวนอกของร่มมีตุ่มเข็มพิษ (Nematocyst wart) อยู่เป็นจำนวนมาก แมงกะพรุนชนิดนี้พบทั่วไปตามชายฝั่งทะเล และมีพิษไม่ร้ายแรงมากนัก
ลักษณะทั่วไปของแมงกะพรุน

          แมงกะพรุนเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในไฟลัม Coelenterate หรือ Cnidalia มีรูปร่างคล้ายร่ม หรือระฆังคว่ำ เรียกว่า Medusoid ด้านบนมีลักษณะนูน มีปากอยู่ตรงกลางลำตัวบริเวณรอบปากมีส่วนที่ห้อยยื่นเป็นพู จำนวนสี่พูในลักษณะสมมาตร มีทางเดินอาหารและกระเพาะอาหาร มีน้ำเป็นองค์ประกอบของร่างกายมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสมองแต่มีระบบประสาท เส้นประสาทต่อกันเป็นร่างแหตามลำตัวและหนวดเพื่อรับสัมผัสและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเคลื่อนที่โดยการยืดหดกล้ามเนื้อด้านในและด้านนอกสลับกัน สามารถว่ายน้ำได้ แต่แมงกะพรุนส่วนใหญ่จะดำรงชีวิตโดยการลอยตามกระแสน้ำ แมงกะพรุนจัดเป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด กินอาหารจำพวกสัตว์ต่าง ๆ เช่น กุ้ง ปลา โดยจะจับเหยื่อด้วยหนวดที่มีเข็มพิษซึ่งเข็มพิษจะทำให้เหยื่อสลบหรือตาย แมงกะพรุนจึงใช้เป็นอาหาร แมงกะพรุนที่มีพิษจะมีเหล็กในหรือเข็มพิษ (nematocyst) จำนวนมากบริเวณรอบปากและหนวดมีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เมื่อมีเหยื่อหรืออะไรก็ตามมากระทบเข็มพิษเหล่านั้นก็จะถูกยิงออกมาเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดความเจ็บปวดหรืออาจถึงตายได้ แมงกะพรุนแต่ละชนิดมีเข็มพิษและความรุนแรงของพิษแตกต่างกัน

ชนิดของแมงกะพรุน

          แมงกะพรุนโดยทั่วไปมีประมาณ 250 ชนิด แต่ละชนิดจะมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 2-200 ซม. พวกที่มีขนาดเล็กมักจะมีสีสดและเข้ม เช่น สีชมพู ม่วง เขียว หรือใสไม่มีสี ส่วนพวกที่มีขนาดใหญ่มักจะมีสีฟ้า น้ำตาล หรือขาวขุ่น บางชนิดสามารถเรืองแสงได้ในที่มืด สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปตามบริเวณชายฝั่งทะเลและท้องทะเลจะพบมากในเขตอบอุ่นและเขตร้อน แมงกะพรุนส่วนใหญ่จะลอยอยู่บริเวณผิวน้ำแต่มีบางชนิดที่พบในน้ำลึกถึง 200 เมตร ชนิดที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนหอม แมงกะพรุนลอดช่อง พบในประเทศไทย และเขตน้ำตื้นเขตร้อนทั่วไป ชนิดที่มมีพิษร้ายแรง เช่น แมงกะพรุนไฟ แมงกะพรุนสาหร่าย เป็นต้น

อาการจากการโดนพิษและการรักษา

          แมงกะพรุนมีพิษรุนแรงมากจะมีความรุนแรงและอาการแตกต่างกันขึ้นกับชนิดและบริเวณของร่างกายที่โดนพิษ ชนิดที่มีพิษไม่รุนแรงนักจะทำให้เกิดอาการคัดหรือปวดแสบปวดร้อนเล็กน้อย ส่วนพวกที่มีพิษรุนแรงการโดนพิษจะมีการปวดอย่างรุนแรงมาก จะมีอาการชากล้ามเนื้อหดเกร็งจุกเสียด หายใจไม่สะดวก ปวดกล้ามเนื้อมีไข้ อาเจียน การแก้พิษในสมัยก่อนนิยมใช้ฝิ่นทาบริเวณแผลและใช้กินเพื่อระงับความเจ็บปวด บางชนิดถึงกับทำให้เป็นอัมพาตหรือตายได้เลยทีเดียว เมื่อโดนพิษแมงกะพรุนให้รีบขึ้นจากน้ำทันทีเพราะพิษอาจทำให้ชา หรือจุกแน่นและอาจจมน้ำได้
การรักษาพิษเบื้องต้น เมื่อโดนพิษถ้ามีหนวดติดอยู่ให้รีบเอาออกให้หมดโดยการใช้ผ้าเช็ดหรือเอาทรายโรยแล้วปัดออกให้หมด ใช้แอมโมเนียหรือแอลกอฮอล์หรือน้ำสะอาดล้าง จากนั้นให้ใช้ครีมทา เช่น ครีมพวกแอนตีอีสตามีน หรือสเตียรอยด์ ส่วนการระงับอาการปวดควรใช้ยาระงับความปวด เช่น Analgesice จะช่วยให้อาการทุเลาได้

          และนอกจากการรักษาโดยการใช้ยาแผนปัจจุบันแล้วยังมียาแผนโบราณที่ใช้แก้พิษแมงกะพรุนหลายแบบด้วยกัน เช่นการใช้ฝิ่นในการระงับปวดซึ่งใช้ได้ผลดีมาก ใช้ใบผักบุ้งทะเลตำและนำไปพอกบริเวณแผล การใช้น้ำฝนล้างหลาย ๆ ครั้ง ใช้หมากเคี้ยวพ่นบริเวณแผล ใช้น้ำฝาดของเปลือกไม้บางชนิดจากป่าชายเลน ใช้น้ำส้มสายชูหรือสารส้มทาบริเวณแผล เป็นต้น สำหรับใบผักบุ้งทะเลนั้นคนไทยใช้เป็นพืชสมุนไพรในการรักษาพิษแมงกะพรุนมานานแล้ว และจากการศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ผลทางยาของผักบุ้งทะเล พบว่า น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากผักบุ้งทะเลมีคุณสมบัติต้านฤทธิ์ของอีสตามีนและพิษของแมงกะพรุนได้ ส่วนการใช้สารส้มและน้ำส้มสายชูนั้นจะได้ผลดีในการช่วยปฐมพยาบาล


         
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการโดนพิษแมงกะพรุนหลังจากทำการปฐมพยาบาลแล้วให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที เนื่องจากพิษของแมงกะพรุนมีฤทธิ์อยู่ได้นาน 1 เดือน ก็จะสลายไปเองตามธรรมชาติ จึงไม่ควรรับประทานยาแก้แพ้ทุกชนิดเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้















 

 
     

 

 
      ที่มาของข้อมูล สิทธิพันธ์ ศิริรัตนชัย. 2537. รู้รอบตัวสาระพันยุคเพื่อคนทันสมัย. ฉบับที่ 95. ปีที่ 8. หน้า 49.  
         
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.