HOME   

 
 

 
 
  เฉลิมพระเกียรติ 50 พระชันษา ตามรอยเท้าพ่อ

 
   

 

 
 

          "... ข้าพเจ้านั่งข้างๆ ประธานบริษัทเลยได้คุยกันเรื่องต่างๆ เขากล่าวว่า นอกจากเขาจะทำกิจการเกี่ยวกับปิโตรเลียมแล้ว ยังทำงานการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชอีกด้วย งานอนุรักษ์นี้เป็นงานที่ทำโดยไม่หวังผลกำไรจริงๆ เขาว่าทำในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แถบนั้นผลไม้มาก บางอย่างก็แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น เชอรี่มีเป็นร้อยชนิด แต่ชนิดที่รับประทานอร่อยและมีในท้องตลาดมีเพียงไม่กี่ชนิด ก็ต้องทำแปลงพันธุ์ทั้งหมด เก็บพันธุ์ที่หายากเอาไว้ด้วย นอกจากเก็บไว้ในแปลงแล้ว ยังมีการเก็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเอาไว้ด้วย ข้าพเจ้าสนใจมาก เพราะฟังแล้วคล้ายๆ กับงานที่พวกข้าพเจ้ากำลังทำในเรื่องปกปักรักษาพันธุกรรมพืชชนิดต่างๆ ทั้งที่เป็นพันธุ์ดีและไม่ดี ตอนหลังได้ความว่า เขาก็ไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องนี้เช่นเดียวกัน..." (จาก "สวนสมุทร" ฉบับปกอ่อน กันยายน  2539 หน้า 15-16)

          "...มาตรการอีกอย่างหนึ่งคือการปรับปรุงภูมิประเทศเตรียบรับมือกับปัญหา ศูนย์อนุรักษ์พรรณพืชปอร์เกอรอลส์ ร่วมมือกับหน่วยงาน  I.N.R.A. ของกระทรวงเกษตรที่ Antibes ค้นคว้าวิจัยหาพืชพื้นเมืองที่สามารถต้านทานมลภาวะได้ มาปลูกเป็นแนวป้องกันได้แก่ ต้นเคราจูปีเตอร์ (Anthyllis barba-jovis  L. JUPITER'S BEARD) วงศ์  LEGUMINOSAE วงศ์ย่อย PAPILIONOIDAEAE  เป็นพืชตระกูลถั่วสามารถตรึงไนโตรเจนมาเป็นประโยชน์แก่พืชได้ และต้น Cineraria maritima  L. วงศ์  COMPOSITAE  ปลูกในบริเวณที่มีดินเลวมีหินมาก สำหรับบริเวณที่เป็นทราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรายเค็ม ต้องปลูกพืชสกุล  Limoniastrum วงศ์ PLUMBAGINACEAE และสกุล Tamarix  วงศ์  TAMARICACEAE  ต้องปลูกต้นไม้ที่เป็นพวกไม้เบิกนำ คือ ต้องทนความร้อน ทนหมอกที่มีมลภาวะ ทนลมแรง ทนความเค็ม ดินขาดสารอินทรีย์วัตถุ..
          ...แถวๆ นี้มีพืชอีกอย่างที่ขึ้นในที่ซึ่งพืชอื่นขึ้นไม่ได้ ได้แก่
 Carpobrotus edulis (L.) L.Bol. วงศ์  AIZOACEAE ภาษาสามัญว่า"กรงเล็บแม่มด" griffe de sorciere มาจากแอฟริกา เป็นวัชพืชกินได้ แต่แย่ มีแต่พวก ฮอตเตนตอต (Hottentot) ในแอฟริกาที่ชอบกิน ข้าพเจ้าลองชิมดูรู้สึกว่าแย่..."
(จาก "สวนสมุทร" ฉบับปกอ่อน กันยายน  2539 หน้า 45-49)

          "... ในหอพรรณไม้ (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงปารีส) มีตัวอย่างพืช 8 ล้านชนิด (เฉพาะ plantes vasculaires ทั้งหมดที่เขามีตัวอย่างพืช 12 ล้านตัวอย่าง) อยู่ในตึก 4 ตึก เนื้อที่ 2,000 ตารางเมตร ข้าพเจ้าได้ดูพืชต่างๆ ที่เขาเก็บไว้ เช่น ดอกบัวสายจากแม่น้ำไนล์ สีน้ำเงิน เป็นบัวในวงศ์ NYMPHAEACEAE  พบในหีบมัมมี่ของพระเจ้ารามเสสที่ 2 มีอายุประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว.. ชั้นหนึ่ง มีตัวอย่างพืชมากที่มาจากไทยก็มี เชน ต้นขี้เหล็กบ้าน ได้มาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1886 โดยแลกมาจากสวนคิวหรือบริทิชมิวเซียม เป็นงานสะสมของ Dr.Kai Larzen นักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ค ที่มาทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ของไทยอยู่เกือบ 30 ปี..." (จาก "สวนสมุทร" ฉบับปกอ่อน กันยายน  2539 หน้า 80-82)

          นอกจากจะทรงงานพฤกษศาสตร์ในป่าและทรงศึกษาตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (Herbarium specimen) ณ หอพรรณไม้ภายในประเทศแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินป่าในต่างประเทศ และทอดพระเนตรสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ สวนรมณีย์ และพิพิธภัณฑ์หอพรรณไม้ของต่างประเทศที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่งทั่วโลก เช่น สวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติ สาธารณรัฐสิงคโปร์, สวนพฤกษศาสตร์บอกอร์ อินโดนีเซีย, สวนพฤกษศาสตร์การแพทย์(สมุนไพร) สิบสองปันนา สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนาและสถาบันวิชาการพฤกษศาสตร์ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติกรุงปารีส, ศูนย์อนุรักษ์พรรณพืชแห่งชาติเกาะปอร์ เกอรอลส์ ประเทศฝรั่งเศส, สวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน, หอพรรณไม้ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงลอนดอน, สวนพฤกษศาสตร์เอดินเบอระ สวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน สวนพฤกษศาสตร์ Inverew สหราชอาณาจักร, ป่าแปก (ป่าสนเขา) เมืองเพียงนากาย แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ฯลฯ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน ทรงแสงถึงพระปรีชาสามารถด้านพฤกษศาสตร์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างประเทศ พระองค์ทรงจดบันทึกข้อมูลพรรณพฤกษชาติต่างถิ่นโดยละเอียด เปรียบเทียบกับพรรณไม้ของประเทศไทย บางวโรกาสได้ทรงจัดเตรียมอัดตัวอย่างพรรณไม้แห้งที่ทรงเก็บมาศึกษาระหว่างเสด็จพระราชดำเนินป่าด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ระหว่างการเสด็จเยือนต่างประเทศ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพรรณไม้ที่หายากและมีศักยภาพในการใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบะด้านการอนุรักษ์ของประเทศต่างๆ นำมาปลูกไว้ในแปลงรวบรวมพันธุ์นอกถิ่น (ex-situ conservation) ที่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามภาคต่างๆ ของประเทศ เช่น กล้วยป่าหรือกล้วยดารารัศมี (Musella lasiocarpa ) ของมณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน, กล้วยป่า (Musa fei  ) ของประเทศหมู่เกาะคุก ภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิคใต้, แฝกพันธุ์ฟิจิ (Vertiveria zizanioides ), อ้อยป่า (Saccharum edule ) ของสาธารณรัฐฟิจิ, พริกไทยป่า หรือ Kawa (Piper methysticum ) ของราชอาณาจักรตองกา และพืชจิมโนสเปอร์ม จำพวก Yew (Taxus yunnanensis ) ที่เป็นสมุนไพรใช้ต้านมะเร็งของมณฑลยูนนาน เป็นต้น

 
  .............................................................................................................................................  
 

บทความโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ราชบัณฑิตประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาพฤกษศาสตร์ จากหนังสือราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วิทยาศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พฤกษศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 24 กรกฏาคม 2540

 
     
 

  กลับสู่หน้าหลัก