PAGE TITLE
 
 
 
กลับหน้าหลัก
บทนำ
การพัฒนาชนบท
การพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
การพัฒนาชาวเขา
โครงการธนาคารข้าว
โครงการธนาคารโค-กระบือ
โครงการฝนหลวง
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ
โครงการศิลปาชีพพิเศษ
กังหันน้ำชัยพัฒนา


                           หน้า   1    2    3  
 

การพัฒนาทางด้านการเกษตร

 
 

"...เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุกๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ..."

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และอนุปริญญาบัตร
ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๙ กรกฎาคม ๒๕๐๗

 

 
 


ความทั่วไป

          "ความเจริญของประเทศ ต้องอาศัยความเจริญของภาคเกษตรเป็นสำคัญ"
          พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้างต้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของภาคเกษตรที่มีต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย
          เกษตรกรรมเป็นอาชีพพื้นฐานของคนในสังคมไทยทุกยุคทุกสมัย ประชากรประมาณสองในสามอยู่ในภาคเกษตร การพัฒนาการเกษตรเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาประเทศมาตลอด สาขาเกษตรเป็นสาขาที่ได้รับความสำคัญอย่างสูงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ
          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผลจากการพัฒนาการเกษตรที่ผ่านมาจะทำให้ภาคเกษตรได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่เกษตรกรรมก็ยังเป็นสาขาการผลิตที่มีปัญหาต่างๆ อีกหลายประการ
     
 

           ปัญหาหลักประการหนึ่งของการพัฒนาการเกษตรในปัจจุบัน คือเรื่องประสิทธิภาพการผลิตที่โยงไปถึงเรื่องการตลาด แม้ว่าบางพื้นที่ถือเป็นเขตเกษตรก้าวหน้า อาจไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่สำหรับพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นเขตเกษตรล้าหลังที่อาศัยการผลิตแบบดั้งเดิม คือ เพาะปลูกปีละครั้ง โดยอาศัยน้ำฝน ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ผลิตได้ไม่พอกิน บางพื้นที่ที่พ้นจากลักษณะเขตล้าหลังและพอจะทำการผลิตเพื่อการค้าได้บ้าง แต่เกษตรกรก็ยังขาดการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ตลอดจนความรู้เชิงพาณิชย์ทำให้เป็นฝ่ายที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในการติดต่อกับพ่อค้าภายใต้กลไกตลาดปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำเป็นหนี้เป็นสินและยากจน
          นอกจากนั้น การเร่งรัดพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำลายสภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติลงไปเป็นอันมาก ที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ ตลอดจนทรัพยากรประมง มีลักษณะเสื่อมโทรมไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นฐานให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องเช่นในอดีต
          สำหรับการช่วยเหลือจากทางฝ่ายรัฐบาลนั้น  ก็ยังมีอุปสรรคและข้อขัดข้องอยู่อีกมาก ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวมที่มีอยู่หลายสิ่งหลายอย่าง ทำให้งบประมาณที่ใช้สำหรับการพัฒนามีจำกัด และต้องค่อยๆ ทำไปตามลำดับความสำคัญ รัฐจึงไม่สามารถเพิ่มบริการที่จะมีผลต่อการพัฒนาการเกษตรได้อย่างกว้างขวาง และขาดการสนับสนุนอย่างเพียงพอต่อการวิจัยและการค้นคว้าทดลอง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาการเกษตร สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาการเกษตรและเกษตรกรโดยทั่วไป
แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตร
          แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญคือ การที่ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้าทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชต่างๆ ใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพารา ฯลฯ ทั้งพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้ รวมทั้งพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น โค กระบือ แพะ แกะ พันธุ์ปลา ฯลฯ และสัตว์ปีกทั้งหลายด้วย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ด้วยราคาถูกและใช้เทคโนโลยีที่ง่าย และไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้ และที่สำคัญคือ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ นั้น จะต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย
          อย่างไรก็ตาม ทรงมีพระราชประสงค์เป็นประการแรกคือ  การทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะในด้านอาหารก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ
                                                                                                                                                             อ่านหน้าต่อไป