โดย  รศ. ดร.สัมฤทธิ์  สิงห์อาษา และ ผศ.ดร.พัชนี สิงห์อาษา
  ..................................................................................
     

แมลงถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ  ได้แก่กลุ่มที่ไม่มีปีก  (Apterygota)  และ กลุ่มที่มีปีก (Pterygota)

                แมลงกลุ่มที่ไม่มีปีก  แตกต่างจากกลุ่มที่มีปีก  ตรงที่มันไม่มีปีกและการเจริญเติบโตของมันเป็นแบบเรียบง่าย  คือไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในระหว่างการเจริญเติบโต (ametabolous)  แมลงในกลุ่มที่มีปีก  บางชนิดตัวเต็มวัยไม่มีปีก  กรณีนี้ได้รับการพิจารณาว่าได้พัฒนามาจากบรรพบุรุษของมันที่มีปีกมาก่อน   ในขณะที่กลุ่มแมลงที่ไม่มีปีกนั้นบรรพบุรุษของมันไม่เคยมีปีกมาก่อนเลย

ส่วนอก  (thorax)  ของแมลงกลุ่มที่ไม่มีปีก  มีการพัฒนาน้อยกว่าและส่วนท้อง  (abdomen)  มักมีส่วนยื่นคล้ายหนามหรือเดือย  ซึ่งไม่พบในแมลงเต็มวัยของกลุ่มที่มีปีก

                แมลงกลุ่มที่ไม่มีปีก  เดิมทีจัดเป็นอันดับ (order)  ใน  Class Insecta  ได้แก่อันดับ Protura,  อันดับ Collemboa,  อันดับ  Diplura  และ อันดับ Thysanura

สำหรับแมลงในอันดับ Protura,  Collembola  และ  Diplura   มีส่วนปากหดอยู่ภายในส่วนหัว (head capsule)   หนวด  ตา  การแบ่งปล้องลำตัว  และการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับสภาวะบางอย่างของลำตัวและของขาของแมลงทั้ง 3 อันดับนี้แตกต่างไปจากของ  Thysanura  ซึ่งมีส่วนปากยื่นออกจากส่วนหัวเช่นเดียวกับแมลงที่มีปีกทั่วไป   ความแตกต่างดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ได้ชี้นำให้นักอนุกรมวิธาน (taxonomists)  จำนวนมาก ทำการจัด  protura,  collembola  และ  diplura  แยกออกไปจาก  Class Insecta    และได้ยกขึ้นให้เป็น Class ต่างหาก  กลายเป็น  Class Protura,  Class Collembola  และ  Class Diplura  และคงไว้ให้  Thysanura  เป็นเพียง order เดียวในกลุ่มของแมลงที่ไม่มีปีก

รูปที่ 1   Proturan 

Class Protura

สิ่งที่มีชีวิตใน  Class  นี้  เรียกว่า Proturans  ซึ่งมีขนาดเล็กมาก  (0.5 – 2.0 มม.)  มีสีค่อนข้างขาว  ไม่มีปีก  ไม่มีตาประกอบ  และไม่มีหนวด   (รูปที่ 1)   บนหัวที่เป็นรูปกรวย  มีส่วนปากที่เป็นแบบแทงแล้วดูด  ขาคู่หน้าชูขึ้นตรงไปข้างหน้าคล้ายกับลักษณะของหนวด (ความจริง

ไม่มีหนวด เดือยขนาดเล็กอยู่ด้านใต้ปล้องท้อง 3 ปล้องแรก  ตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตแบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง  และมีปล้องท้องเพิ่มขึ้นหนึ่งปล้องหลังการลอกคราบแต่ละครั้ง Proturans  หาได้ไม่ง่ายนัก  มักพบในดินชื้นๆ  ตามขอบท่อนไม้  ใต้เปลือกไม้และในท่อนไม้ผุๆ   เก็บได้โดยการร่อนหรือใช้ berlese funnel   เก็บรักษาโดยการดองใน 80 % แอลกอฮอล์alcohol  หรือนำมาเมาท์บนแผ่นกระจกสไลด์

 

รูปที่ 2  Dipluran 

Class Diplura

                สิ่งที่มีชีวิตใน  Class  นี้ เรียกว่า diplurans   มีขนาดเล็ก  มักยาวไม่เกิน 7 มม.  มีสีซีดๆ  มีหางเส้นเล็กๆ 2 เส้น  (รูปที่ 2)   พวกนี้ไม่มีปีก  ไม่มีตาประกอบและไม่มีเกล็ด  ปากเป็นแบบปากเคี้ยว   Dipulrans   อาศัยอยู่ในบริเวณที่อับชื้น  ตามใต้ก้อนหินและเปลือกไม้  ในดินและในเนื้อไม้ผุๆ    เก็บตัวอย่างโดยการร่อนหรือใช้  berlese funnel    แล้วเก็บดองไว้ใน 80 % แอลกอฮอล์  หรือเมาท์บนแผ่นกระจกสไลด์  ทั่วโลกพบได้มากถึง 500 ชนิด  (species)
 

 

 

 

    
รูปที่ 3  แมลงหางดีดชนิดต่างๆ ใน
Class Collemboa

Class Collembola

                สิ่งที่มีชีวิตใน class  นี้  ได้แก่พวกแมลงหางดีด  (springtails)  มีขนาดเล็ก  ไม่มีปีก ลักษณะพิเศษคือจะมีท่ออยู่ใต้ลำตัว  ท่อนี้เรียกว่า  Collophore   อยู่ที่ปล้องท้องปล้องแรก  และมีอวัยวะสำหรับการดีดตัว  เรียกว่า furcula  ซึ่งอยู่ที่ปล้องท้องที่ 4  (รูปที่  3)   Collophore  ทำหน้าที่เป็นอวัยวะสำหรับการเกาะดูด   ช่วยในการดูดซึมน้ำและเกี่ยวข้องกับการหายใจและการหลั่งสารคัดหลั่ง   อวัยวะสำหรับการดีดตัว  จะพับไปทางข้างหน้าใต้ส่วนท้องในขณะกำลังพัก   อวัยวะสำหรับการดีดตัวนี้ถูกยึดให้อยู่กับที่ด้วยอวัยวะที่มีชื่อว่า  tenaculum  บนปล้องท้องที่ เมื่อ furcula  ถูกปล่อย  มันก็จะถูกบังคับให้ดีดลงทางด้านล่าง  โดยการปลดปล่อยของ cuticular tension  และการหดตัวของกล้ามเนื้อของมันเอง   furcula  จะกระทบกับพื้น  ทำให้ตัวแมลงกระดอนขึ้นในอากาศได้สูงถึง 100 มิลลิเมตร   แมลงหางดีดมีปากสำหรับเคี้ยว  และมีการเจริญเติบโตแบบที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง
                แมลงหางดีดชอบอาศัยอยู่ในดินที่อับชื้น และเย็น  ในกองใบไม้ที่กำลังขึ้นรา  ในเห็ดราและมอส  ในขอนไม้ผุ  ตลอดจนในรังมดและรังปลวก  บางครั้งอาจพบอยู่บนต้นไม้ใบหญ้า   บางพวกพบบนผิวหน้าของบ่อน้ำ  พื้นหิมะ  และตามชายฝั่งทะเลช่วงบริเวณน้ำขึ้น-น้ำลง   สามารถพบได้ทั่วโลกจากเขตขั้วโลกเหนือจนถึงขั้วโลกใต้

                                           

                อาหารของแมลงหางดีด  ได้แก่สสารที่กำลังเน่าเปื่อย  สาหร่าย  ไลเคนส์  เกสรดอกไม้และสปอร์ของเชื้อรา   แมลงหางดีดมักอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก    บางชนิดอาจทำความเสียหาย  โดยการกินเมล็ดพืชที่กำลังงอก  และกินต้นกล้าในเรือนเพาะชำหรือในสวน    การเก็บแมลงหางดีด  ทำได้โดยการร่อนหรือโดยการลอยน้ำและโดยการใช้ berlese funnel    อาจใช้พู่กันจุ่มแอลกอฮอล์หรือ  อาจใช้ aspirator  ในการจับเก็บแมลงหางดีดจากในบริเวณที่มันอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่  สามารถเก็บรักษาไว้ในไอโซยโปรปิล แอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol)  หรือใน 80 % เอทิลแอลกอฮอล์  ก็ใช้ได้  หรือไม่ก็เอามาเมาท์บนแผ่นกระจกสไลด์

Order Thysanura

ตัวสามง่าม   (Bristletails)  มีขนาดเล็กถึงปานกลาง  ไม่มีปีก  มีแส้คล้ายหางลักษณะเรียวยาว 3  เส้นอยู่ที่ปลายท้อง   มีหนวดยาว 2  เส้น  (รูปที่ 4 A, B)  ลำตัวมีสีเทา  น้ำตาลหรือขาว และมักปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กๆ จำนวนมาก   แมลงพวกนี้สามารถกระโดดหรือวิ่งได้อย่างรวดเร็วมาก  ตัวสามง่ามมีปากแบบเคี้ยว   ตัวกลางวัย (nymphs)  เจริญเติบโตโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง   ไข่ถูกวางไว้ตามร่อง  ตัวกลางวัยเจริญเติบโตอย่างช้าๆ  (นานถึง 2 ปีมีการลอกคราบมากกว่า 20-30 ครั้ง   ส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกบ้าน (รูปที่ 4 B)  กินเนื้อเยื่อไม้     ส่วนพวกที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน (รูปที่ 4 A) จะกิน ธัญญพืช  กาว  แป้งเปียกบนสันหนังสือ และกระดาษเป็นอาหาร

 

 รูปที่ 4  A.  ตัวสามง่ามบ้าน   B.  สามง่ามป่า


                ตัวสามง่ามชนิดที่อาศัยอยู่นอกบ้าน  อาจทำการจับได้จากใต้เปลือกไม้ผุ  ใต้กองใบไม้และใต้ก้อนหินที่ค่อนข้างมืดและชื้น       ชนิดที่อาศัยภายในบ้านจะพบได้ในบริเวณที่อบอุ่นทั้งชื้นและแห้ง  เช่นในห้องน้ำหรือห้องใต้ถุนบ้าน   อาจใช้กับดักโดยใช้เศษขนมปังกรอบเป็นเหยื่อล่อ   ตัวอย่างแมลงพวกนี้ต้องเก็บไว้ใน 80 % เอทิล แอลกอฮอล์   ทั่วโลกพบได้มากกว่า 700
ชนิด

                แมลงดังกล่าวทั้งหมดแม้ว่าจะมีขนาดเล็กถึงเล็กมาก  แต่พวกเราต้องไม่มองข้ามความสำคัญของมัน  แมลงเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติ   ถึงแม้ว่าพวกมันมีขนาดเล็ก  แต่ด้วยจำนวนที่มีมากมายมหาศาลจึงทำให้การย่อยสลายตามธรรมชาติเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วพอสมควร  นอกจากนี้แล้วแมลงเหล่านี้ยังอาจเป็นอาหารของสัตว์หรือแมลงอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่ากินเป็นอาหารตามห่วงโซ่ธรรมชาติ  ซึ่งเป็นการถ่ายทอดพลังงานตามธรรมชาติในช่วงต้นๆ ของห่วงโซ่อาหาร  ถ้าหากแมลงพวกนี้ถูกทำลายไปโดยมิได้ตั้งใจหรือตั้งใจของพวกมนุษย์แล้ว  ก็อาจก่อให้เกิดความไม่สมดุลย์ในธรรมชาติขึ้นได้   ดังนั้น ขอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลาย  โปรดได้ช่วยกันรักษาดูแลธรรมชาติไว้ให้ดี  อย่าตัดต้นไม้ทำลายป่า   ถ้าต้นไม้ถูกทำลายลงไปมากๆ จะทำให้ไม่เกิดฝน  พื้นดินจะแห้งแล้งไปทั่ว  เมื่อพื้นดินขาดความชุ่มชื้น  สิ่งที่มีชีวิตน้อยใหญ่ก็จะพากันตายหมด  และในที่สุดมนุษย์เองก็จะได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส

                ถ้าหากเรื่องราวของแมลงต่างๆ  ในบทความนี้ได้รับความสนใจจากผู้อ่านมากพอ  และผู้อ่านต้องการที่จะอ่านเรื่องราวของแมลงต่อๆ ไปอีก  ก็ขอให้ส่ง E-mail แสดงความคิดเห็น ติชมหรือขอให้ผู้เขียนเขียนต่ออีก  ผู้เขียนจะรู้สึกยินดีและขอบคุณอย่างยิ่ง

                                                                                          สวัสดี   จนกว่าจะพบกันใหม่

 

หนังสืออ้างอิง

Bland, R.G. and Jaques, H.E. 1978.  How to know the insects  3rd Edition.  The Pictured Key    

Nature Series.  Wm. C. Brown Company Publishers.  Dubuque, Iowa. U.S.A. 409 pp.

E-mail Address ของผู้เขียน     S_singh66@ yahoo.com
 


สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกได้ที่ : ชมรมคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ.
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303
โทร. - โทรสาร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665