โดย..จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า และ อัศเลข รัตนวรรณี  ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย
 ................................................................................................................................................

 



รูปที่ 1. รังของผึ้งหลวงหลายๆ รังบนต้นไม้อาศัยต้นเดียวกัน

(
ที่มา: www.calpoly.edu)



  รูปที่ 2. ลักษณะตัวของผึ้งหลวง
(ที่มา
: www.calpoly.edu)

       รูปที่ 3. ลักษณะรวงรังของผึ้งโพรงจากคอนในกล่องเลี้ยง
(ที่มา
: www.calpoly.edu)

  รูปที่ 4. ลักษณะตัวของผึ้งโพรง
 

 

ผึ้ง (Honeybee) เป็นแมลงที่จัดอยู่ในสกุล Apis และจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง พบว่ามีกระจายตัวทั่วประเทศ     ขยันบินออกหาน้ำหวานตามดอกไม้ ผลิตภัณฑ์ของผึ้ง เช่น น้ำผึ้ง ไขผึ้ง นมผึ้ง พรอพอริส เป็นต้น เป็นที่นิยมต่อการบริโภค นำรายได้สูงมาสู่ประเทศ ความหลากหลายทางชีวภาพของผึ้งในประเทศไทยมีสูง ผึ้งที่เป็นผึ้งพื้นเมืองของไทย ส่วนใหญ่พวกเราจะรู้จักผึ้งหลวง giant bees (Apis dorsata) ที่สร้างรวงรังชั้นเดียว ขนาดใหญ่ ตามต้นไม้ใหญ่ ตามหอคอยสูงๆ หรือตามหลังคาบ้านเรือน ในต้นไม้ต้นหนึ่งๆ อาจพบผึ้งหลวงหลายรังได้ ดังเช่นรูปที่ 1 ผึ้งหลวงจัดเป็นผึ้งที่มีขนาดของตัวใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ดังเช่นรูปที่ 2 มีนิสัยดุร้ายมาก แต่น้ำผึ้งจากผึ้งหลวงได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีกลิ่นหอมและมีรสชาติหวานกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งชนิดอื่นๆ

      ผึ้งชนิดที่สองที่เรารู้จักกันดีคือผึ้งโพรง
(A. cerana) จัดเป็นผึ้งอุตสาหกรรมที่เรานำมาเลี้ยงในฟาร์มได้อย่างประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกับผึ้งพันธุ์ (A. mellifera) ซึ่งเป็นผึ้งที่นำเข้ามาจากยุโรป สร้างรังในลักษณะที่มีรวงรังหลายชั้น สร้างรังในที่ปกปิด เช่น ในโพรงไม้ ในกล่องปิด ดังในรูปที่ 3 แต่บางครั้งก็พบสร้างรังในที่เปิดได้ เช่น ตามมุมหลังคาบ้าน (Wongsiri, 1989) มีลักษณะคล้ายกับผึ้งพันธุ์ แต่มีขนาดลำตัวเล็กกว่า มีสีที่ปล้องท้องเข้มกว่า ดังรูปที่ 4
      นอกจากนี้ยังมีผึ้งมิ้ม (A. florea) ซึ่งจัดเป็นผึ้งขนาดเล็ก มีระยะการบินเพื่อตอมดอกไม้ที่ไม่ไกลจากรังมากนัก จึงมีความสำคัญในการเป็นแมลงช่วยผสมเกสร ทั้งในแปลงเกษตร และสวนผลไม้ต่างๆ มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ลักษณะของผึ้งมิ้มที่สำคัญคือ ปล้องแรกและสองของส่วนท้องจะมีสีออกส้ม ดังรูปที่ 5(A) สร้างรังแบบเปิด ลักษณะรวงรังเป็นแบบรวงรังเดียว ดังรูปที่ 5 (B) และ (C)  มักพบทำรังตามต้นไม้ที่ไม่สูงมากนัก แต่ชอบต้นไม้ที่มีใบไม้ปกปิด ร่มครึ้ม ค่อนข้างรกเล็กน้อย ผึ้งมิ้มมีนิสัยไม่ค่อยดุร้ายมากนัก และหนีรังไม่บ่อยนัก จึงสามารถตัดย้ายรังนำไปเลี้ยงเป็นแมลงผสมเกสรตามสวนผลไม้ของเกษตกรได้ แต่พิษของผึ้งมิ้มก็ก่อให้เกิดอาการบวม ปวด ได้เช่นเดียวกัน

 

 

รูปที่ 5. ลักษณะตัวของผึ้งมิ้ม (A) และลักษณะรวงรังเดียวแบบเปิดของผึ้งมิ้มที่อยู่ตามต้นไม้ธรรมชาติ เช่น ต้นมะขาม (B) กับสภาพรังที่ตัดแล้วย้ายมาเลี้ยง (C) ถ่ายภาพโดยนางสาวรัมภาไลย ผดุงศุภไลย

 
      เมื่อเดินทางออกต่างจังหวัด มักพบชาวบ้านนำรังของผึ้งมิ้มมาวางขายตามข้างถนน ดังรูปที่ 6 หรือหาบมาขาย โดยจะขายทั้งรัง จึงทำให้รังของผึ้งมิ้มมีการลดจำนวนลงอย่างมากในปัจจุบัน

     

        ส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นกับผึ้งสามชนิดข้างต้น แต่จริงๆ แล้วในบ้านเรายังมีผึ้งพื้นเมืองอีกหนึ่งชนิด คือ ผึ้งมิ้มเล็ก (A. andreniformis) บางท้องถิ่นคนเรียกผึ้งชนิดนี้ว่าผึ้งม้าน จัดว่าเป็นผึ้งหายากที่สุด (Rare species) จะพบผึ้งชนิดนี้บริเวณพื้นที่ที่ติดต่อกับป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และไม่พบผึ้งมิ้มเล็กนี้ในบริเวณเขตเมืองเลยซึ่งจะแตกต่างกับผึ้งมิ้ม ในอดีต Ruttner (1988) จัดผึ้งมิ้มเล็กเป็น Subspecies ของผึ้งมิ้ม (A. florea) ซึ่งเป็นผึ้งที่มีการกระจายทั่วอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ต่อมาจึงพบว่าเป็นคนละ Species กัน (Wongsiri et al., 1996) มักพบอยู่ใน Habitat ลักษณะเดียวกัน เช่น ในป่ารก อยู่ไกลจากผู้คน ชอบทำรังตามต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบดก แต่อยู่คนละระดับความสูงของต้นไม้ ผึ้งมิ้มเล็กจะอยู่ต่ำกว่า อาจเป็นเพราะการแบ่งเขตที่อยู่และแหล่งอาหาร ดังรูปที่ 7 ผึ้งมิ้มเล็กมีนิสัยดุร้ายกว่า และหนีรังง่ายกว่าผึ้งมิ้ม ถึงแม้ว่าลักษณะตัวของผึ้งมิ้มเล็กจะเล็กกว่าผึ้งมิ้มก็ตาม ในส่วนท้องมีเฉพาะสีดำและสีขาวเท่านั้น ดังรูปที่ 8
 


 

รูปที่ 8. ลักษณะตัวของผึ้งมิ้มเล็กบนดอกกระดุมทอง
 
(Melanpodium paludosum)

 (ถ่ายภาพโดยนายอัศเลข รัตนวรรณี)

 


 
รูปที่ 6. รังของผึ้งมิ้มที่ถูกชาวบ้าน
หรือนักล่าของป่านำมาขาย
 (www.calpoly.edu/)



รูปที่ 7. ลักษณะรังของผึ้งมิ้มเล็ก (ถ่ายภาพโดยนายอัศเลข
รัตนวรรณี)

         
จากการออกสำรวจผึ้งมิ้มเล็กในช่วงปี พ.ศ. 2548-2549 พบว่ามีการกระจายตัวดังนี้

 

บริเวณที่สำรวจ

จำนวนรังที่พบ

เชียงใหม่

5

กาญจนบุรี

6

เพชรบุรี

2

จันทบุรี

6

ตราด

2

พังงา

1

สุราษฏร์

2

ภูเก็ต

3

 

          โดยลักษณะของสภาพภูมิศาสตร์ที่พบมักเป็นป่าที่ค่อนข้างทึบ จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีจำนวนรังน้อยมาก เมื่อเทียบกับการพบรังของผึ้งชนิดอื่นๆ ณ ช่วงเวลาเดียวกันที่ออกสำรวจผึ้งมิ้มเล็ก พบรังของผึ้งมิ้มอย่างคร่าวๆ มากกว่า 100 รัง แสดงเห็นได้ว่าผึ้งมิ้มเล็กหรือผึ้งม้านมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากกว่าผึ้งชนิดอื่นของประเทศไทย เนื่องจากการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วของพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นแหล่งทื่อยู่และแหล่งอาหารที่สำคัญ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการอนุรักษ์ผึ้งมิ้มเล็กเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ ถึงแม้ว่าผึ้งมิ้มเล็กมีความสำคัญไม่มากนักในเชิงธุรกิจ แต่ก็จัดว่าเป็นแมลงที่ความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะในเรื่องของการช่วยผสมเกสร

 เอกสารอ้างอิง

Ruttner, F. 1988. Biogeography and taxonomy of honey bee. Springer-Verlag: Berlin.

Wongsiri, S. 1989. Biology of honey bees. Ton-or Co., Ltd: Bangkok.

Wongsiri, S., Lekprayoon, C., Thapa, R., Thirakupt, K., Rinderer, T. E., Sylvesteer, H. A., Oldroyd, B. P., and Booncham, U.  1996. Comparative biology of Apis andreniformis and Apis florea in Thailand. Bee World. 77(4): 23-35.

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกได้ที่ : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303 โทร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665