กะหนาย
Pterospermum littorale Craib, STERCULIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-16 ม. กิ่งอ่อนมีขนสีขาวหรือเหลืองอ่อนบางๆ กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ มี 2 รูป ใบอ่อนรูปไข่กว้างหรือเกือบเป็นแผ่นกลม กว้าง 14-18 ซม. ยาว 14-16 ซม. แผ่นใบเว้าเป็นแฉกลึก 5-7 แฉก แฉกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายแฉกแหลม ขอบเรียบหรือเว้าตื้นๆ ห่างๆ ไม่เป็นระเบียบ โคนรูปก้นปิด เส้นใบออกจากโคนใบประมาณ 7 เส้น แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีเทาอมเหลืองหนาแน่น ก้านใบติดห่างจากโคนใบมาก ยาว 4-7 ซม. มีขนเป็นแฉกรูปดาวหนาแน่น หูใบแคบ ยาวประมาณ 1 ซม. มีขนทั่วไป ใบแก่รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 5-13 ซม. ปลายแหลมยาว โคนมนกว้าง หรือโคนใบตัดและเว้าเล็กน้อยตรงก้านใบที่ติดเหลื่อมห่างจากโคนใบเล็กน้อย ขอบเรียบแต่มักเว้าตื้นๆ ห่างๆ ไม่เป็นระเบียบ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3-5 เส้น และเส้นแขนงใบข้างละ 6-8 เส้น ปลายเส้นโค้งขึ้นเลียบขอบใบ ก้านใบยาว 0.7-1 ซม. แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเข้ม ด้านล่างมีขนสีเทาอมเหลืองหรือสีนวลหนาแน่น ดอกออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ กลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว 0.5-1 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกกัน รูปขอบขนาน สีเขียวอมน้ำตาล กว้างประมาณ 7 มม. ยาว 7-8 ซม. ด้านนอกมีขนนุ่มเป็นมันสีน้ำตาลอมเหลือง ด้านในมีขนนุ่มเช่นกันแต่สีจางกว่า กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว แยกกัน กว้างประมาณ 1.7 ซม. ยาวประมาณ 6.5 ซม. โคนกลีบเรียว กลีบด้านนอกมีขนเป็นแฉกรูปดาวประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้สมบูรณ์มีประมาณ 15 อัน ติดกันเป็นกลุ่มๆ สลับกับเกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์ ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2 ซม. เกสรเพศเมียมีก้านเกสรยาวประมาณ 5 ซม. มีขนเป็นแฉกรูปดาวประปราย รังไข่ยาวประมาณ 6 มม. มีขนสีเทาอมเหลือง รังไข่ติดอยู่บนก้าน ฝักรูปทรงกระบอกสั้นๆ กว้าง 3-4 ซม. ยาว 5-8 ซม. มีสันคม 5 สัน ผนังระหว่างสันเว้าเข้าเป็นแอ่ง ฐานคอดลงเป็นแกนสั้นๆ ยาว 0.8-1.3 ซม. ผนังมีขนสีเหลืองอมน้ำตาลทั่วไป ฝักแก่แตกตามรอยสันออกเป็น 5 เสี่ยง เมล็ดมีจำนวนมาก รูปไข่หรือรูปรีแบน ด้านบนมีปีกยาวบางใสสีน้ำตาล กว้างประมาณ 6 มม. ยาวรวมทั้งฝักและปีกประมาณ 3.6 ซม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ชลบุรี จันทบุรี ตราด นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงพัทลุง


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามป่าละเมาะชายหาด ป่าชายหาด หรือตามร่องน้ำลำคลองที่ไม่ห่างจากฝั่งทะเล


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : สมัยก่อนนิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะ วัด และวังต่างๆ


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.