กระแจะ
Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson, RUTACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 2-10 ม. ตามลำต้น และกิ่งก้านมีหนามแหลมยาวทั่วไป ลำต้นส่วนมากคดงอ แตกกิ่งก้านระเกะระกะไม่เป็นระเบียบ เปลือกสีขาวปนเขียว แตกสะเก็ดเล็กๆ เป็นร่องตื้นๆ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ออกเป็นช่อเดียวหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-3 หรือ 4 ช่อ เรียงสลับ ตามกิ่งมีปุ่มปมของกลุ่มใบประกอบปรากฎชัดเจน มีใบย่อย 1-3 คู่ เรียงตรงข้าม ปลายแกนกลางใบประกอบมีใบย่อยเดี่ยวๆ ที่ไม่มีก้านใบติดกับใบย่อยคู่ปลาย ใบย่อยคู่อื่นๆ ไม่มีก้าน ใบย่อยก้านใบประกอบยาว 1-6 ซม. แกนกลางใบประกอบยาว 3-7 ซม. ตามก้านและแกนกลางใบประกอบมีครีบลักษณะคล้ายแผ่นใบแผ่กว้างมากหรือน้อยปรากฎอยู่ทั้ง 2 ด้าน ใบย่อยรูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 1.3-3.4 ซม. ยาว 1-9 ซม. ปลายแหลมมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนสอบ ขอบจักมนห่างๆ แผ่นใบ และครีบของแกนกลางใบประกอบมีต่อมน้ำมันโปร่งแสงกระจัดกระจายทั่วไป แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน หรือมีขนประปรายตามเส้นกลางใบ ช่อดอกออกเดี่ยวๆ ตามกิ่งด้านข้างหรือออกมาจากกลุ่มใบประกอบ ยาว 1.2-3.4 ซม. มีขนประปราย บางครั้งมีเพียง 1-2 ดอก ดอกเล็ก สีขาวอมเหลือง กลิ่นหอมเย็น กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ แยกกันเป็นอิสระ ยาวประมาณ 5 มม. มีต่อมน้ำมันทั่วไป เกสรเพศผู้ 8 อัน มีจานฐานดอกรูปวงแหวนล้อมรอบรังไข่ ผลกลม เป็นผลมีเนื้อ เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7-1.2 ซม. มีต่อมน้ำมันทั่วไป สุกสีดำ รสเปรี้ยว มี 1-4 เมล็ด


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : ปากีสถาน ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ พม่า มณฑลยูนนานของจีน และภูมิภาคอินโดจีน


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้งทั่วไป


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.