โกงกางหัวสุม
Bruguiera gymnorrhiza (L.) Savigny, RHIZOPHORACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 25-35 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ โคนต้นมีพอนและมีช่องอากาศขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป ไม่มีรากค้ำยันแต่มีรากหายใจที่พับงอคล้ายรูปหัวเข่า เปลือกหยาบ สีน้ำตาลดำถึงดำ มีรอยแตกเป็นร่องตามยาวไม่เป็นระเบียบ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่แกมรี กว้าง 4-9 ซม. ยาว 8-20 ซม. ปลายแหลม โคนคล้ายรูปลิ่ม แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า เส้นกลางใบด้านล่างมักมีสีแดงเรื่อๆ เส้นแขนงใบข้างละ 8-10 เส้น ก้านใบยาว 2-5 ซม. มักมีสีแดงเรื่อๆ หูใบแหลมยาว ประกบกันเป็นคู่ที่ปลายกิ่ง ยาว 4-8 ซม. สีแดง ร่วงง่าย ดอกออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกยาว 1-3 ซม. โค้งลงล่าง ดอกจึงอยู่ลักษณะคว่ำด้านหน้าลงสู่พื้น ดอกตูมรูปกระสวย ยาว 2.5-3.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีแดงปนเขียว ติดกันที่โคนขึ้นมาประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมด ส่วนบนแยกออกเป็นแฉกแคบๆ 10-16 แฉก แต่ละแฉกกว้าง 3-5 มม. ยาว 1.5-2 ซม. กลีบดอก 10-16 กลีบ รูปขอบขนาน สีขาวหรือเหลืองอมเขียว ปลายกลีบเว้าหยักลึกลงมาเกือบถึงกลางกลีบเป็น 2 แฉก ปลายแหลม มีระยางค์เป็นเส้นแข็งติดที่ปลาย 3-4 เส้น ยาว 2-3 มม. ขอบกลีบใกล้โคนกลีบมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหม เกสรเพศผู้มีจำนวน 2 เท่าของกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็นแฉกสั้นๆ 3-4 แฉก ผลรูปลูกข่าง ยาว 2-3 ซม. ผิวเรียบ ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปกระสวย ยาว 7-25 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4-2 ซม. เป็นเหลี่ยมหรือมีสันเล็กน้อย สีเขียว


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : แอฟริกาตอนใต้และตะวันออก เอเชีย ออสเตรเลียตอนเหนือ ภูมิภาคไมโครนีเซียและโพลินีเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : -


สภาพนิเวศน์ : ป่าชายเลนตามฝั่งทะเลทั่วไป บนพื้นที่มีดินเลนค่อนข้างแข็งกว่าที่โกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็กขึ้นอยู่ และพื้นที่ดอนที่น้ำทะเลขึ้นถึง


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
2) Smitinand, T. and Larsen, K., eds. 1981. Flora of Thailand (Vol.2). Bangkok. TISTR Press.