กระปรอกเล็ก
Drynaria rigidula (Sw.) Bedd., POLYPODIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6-1 ซม. มีเกล็ดสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลเข้ม เกล็ดฐานกลม กว้าง 1-2 มม. ยาว 0.7-1 ซม. ปลายค่อยๆ เรียว ขอบเกล็ดมีขน ใบมีลักษณะแตกต่างกัน 2 ชนิด ใบไม่สร้างอับสปอร์เป็นใบเดี่ยว รูปใบหอก กว้าง 6-12 ซม. ยาว 10-35 ซม. ขอบหยักเว้าเข้าหาเส้นกลางใบ ลึกประมาณ 1/3 จากขอบใบ เส้นใบเป็นร่างแหเห็นนูนเป็นสันชัดเจนทั้ง 2 ด้าน เมื่อแตกใบใหม่จะมีสีเขียวและมีขนรูปดาว เมื่อเจริญเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งติดอยู่กับต้น ใบสร้างอับสปอร์เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปขอบขนาน กว้าง 20-30 ซม. ยาวได้มากกว่า 1 ม. ก้านใบสีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลอมม่วง มีขน มีใบย่อยประมาณ 40 คู่ รูปขอบขนาน กว้าง 0.8-1.4 ซม. ยาว 15-25 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบจัก เส้นกลางใบสีซีด เชื่อมต่อกับแกนกลางใบประกอบ มีก้านสั้นๆ หรือไม่มี เส้นใบเป็นร่างแหนูนเห็นชัดเจนทั้ง 2 ด้าน กลุ่มอับสปอร์รูปกลม เรียงเป็นระเบียบใกล้และขนานกับเส้นกลางใบย่อยทางด้านล่างของแผ่นใบ เมื่อใบแก่และแห้งจะหลุดเหลือก้านใบและแกนกลางใบประกอบติดอยู่กับลำต้น


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ภูมิภาคโปลีนิเซีย และเขตศูนย์สูตรของออสเตรเลีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นบนไม้ต้นในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา หรือบนก้อนหิน บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1,300 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.