กระเทียมต้น
Scorodocarpus borneensis (Baill.) Becc., OLACACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 10-40 ม. ทุกส่วนของต้นมีกลิ่นกระเทียม โดยเฉพาะหลังฝนตกหรือต้นที่มีแผลหรือถูกตัดฟัน เรือนยอดเล็กและทึบ เปลือกสีเทาหรือน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า กิ่งแก่สีเข้มและมีช่องอากาศรูปยาวกระจายอยู่ทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบกิ่ง รูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 4-10 ซม. ยาว 9-22 ซม. ปลายเรียวแหลม ยาว 1-2 ซม. โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่าเมื่อยังสดอยู่ เมื่อใบแห้งเป็นสีเขียวมะกอกและมีตุ่มเล็กๆ โผล่ขึ้นมาบนผิวใบเห็นชัดเจน เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น เส้นใบด้านบนแบนแต่ด้านล่างจะนูนขึ้นทั้งเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบขนานกันเป็นขั้นบันได เส้นแขนงใบที่อยู่กลางใบเกือบตั้งฉากกับเส้นกลางใบ ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. โป่งออกเล็กน้อยทางโคนใบ ช่อดอกสั้น ออกตามง่ามใบ มีขนสีน้ำตาลหรือเทาเล็กน้อย ก้านช่อดอกสั้น ดอกมีทั้ง 2 เพศ ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มรวมกัน กลุ่มละ 2-3 ดอก ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงเล็ก รูปถ้วย ขอบหยักตื้นๆ 4-5 หยัก กลีบดอก 4-5 กลีบ สีเหลือง ชมพู หรือขาวนวล รูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ 2 มม. ยาว 0.8-1 ซม. ภายในกลีบมีขนฟู เมื่อยังตูมกลีบแตะกันตามขอบกลีบและจะกระดกโค้งงอเมื่อบานเต็มที่ เกสรเพศผู้ 8-10 อัน ขนาดเล็ก ติดที่กลีบดอกเป็นคู่ ปลายก้านชูอับเรณูยาวพ้นกลีบดอกขึ้นมา อับเรณูเรียว ยาว 3-4 มม. รังไข่สีเขียวอมเหลือง อยู่เหนือวงกลีบ มี 3-4 ช่อง มีออวุล 1 เม็ด ห้อยจากยอดของรังไข่ในแต่ละช่อง ก้านเกสรเพศเมียสีขาว รูปทรงกระบอกยาว ยอดเกสรเพศเมียเล็กมาก มี 3-4 แฉก ผลมีเนื้อ ค่อนข้างกลม สีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 ซม. ก้านผลยาวประมาณ 1 ซม. เปลือกนอกบาง มีเนื้อนุ่ม ผลชั้นในแข็ง มี 1 เมล็ด เมล็ดกลม


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : มาเลเซียและอินโดนีเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคใต้


สภาพนิเวศน์ : พบในป่าดิบหรือป่าต่ำ บนที่ราบหรือตามเชิงเขาถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 ม. ขึ้นบนดินทรายหรือดินเหนียว ที่ดินกร่อยมีบ้างกระจัดกระจาย


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.