กระโดน


ชื่อพื้นเมือง : กระโดน (ภาคกลาง, ภาคใต้), กะนอน (เขมร), ขุย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), จิก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), แซงจิแหน่ เส่เจ๊อะมะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ปุย (ภาคใต้, ภาคเหนือ), ปุยกระโดน (ภาคใต้), ปุยขาว ผ้าฮาด (ภาคเหนือ), พุย (ละว้า-เชียงใหม่), หูกวาง (จันทบุรี)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Careya sphaerica Roxb.


ชื่อวงศ์ : LECYTHIDACEAE (BARRINGTONIACEAE)


ชื่อสามัญ : Tummy-wood


ลักษณะ : ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 10-30 ม. หน้าแล้งจะทิ้งใบหมดแล้วผลิใบใหม่พร้อมดอก ใบเดี่ยว เรียงสลับถี่ๆ ที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ ปลายแหลม เป็นติ่งสั้นๆ โคนเรียวยาวดูคล้ายครีบ ขอบหยักเล็กน้อย ดอกใหญ่ ออกเป็นช่อ แต่ละดอกมีใบประดับ 3 ใบ กลีบเลี้ยง 4 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นรูประฆัง กลีบดอก 4 กลีบ สีขาว เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก รังไข่ 4 ช่อง ผลรูปไข่หรือกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 ซม. ที่ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมล็ดแบน สีน้ำตาลอ่อน รูปขอบขนาน ผิวเรียบ


ประโยชน์ : เนื้อไม้ค่อนข้างหยาบแข็ง และหนัก สีแดงแก่หรือน้ำตาลแกมแดง เสี้ยนค่อนข้างตรง ทนทานในร่ม ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ ถ้าอาบน้ำยาอย่างถูกต้องแล้วใช้เป็นหมอนรองรางรถไฟได้ดี เปลือกใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษงู แก้เมื่อยเคล็ด เป็นยาฝาดสมาน ใช้เบื่อปลา และใช้เป็นสีย้อม เส้นใยที่ได้จากเปลือก หยาบ ใช้ทำเชือก ทำเบาะรองหลังช้าง ทำกระดาษสีน้ำตาล ใบมีรสฝาด มีแทนนินร้อยละ 19 แพทย์แผนโบราณใช้ใบผสมกับเครื่องยาอื่นๆ ปรุงเป็นยาสมานแผล ใช้เบื่อปลา ดอกและยอดกินเป็นผักได้ ดอกและน้ำจากเปลือกสดใช้ผสมกับน้ำผึ้งจิบแล้วชุ่มคอ แก้ไอและแก้หวัด เป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตร ผลกินได้ ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาฝาดสมาน


โทษ : เมล็ดเป็นพิษ รากมีพิษ ใช้เบื่อปลา


ข้อมูลเพิ่มเติม