ไกรทอง
Erythroxylum cuneatum Kurz, ERYTHROXYLACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 4-15 ม. อาจสูงได้ถึง 30 ม. เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว เปลือกในสีเหลืองถึงน้ำตาลอมแดง กระพี้สีเหลือง แก่นสีแดงถึงน้ำตาลอมแดง กิ่งมักตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนค่อนข้างแบน มีรอยแผลหูใบรอบกิ่ง หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 6 มม. ร่วงง่าย ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปขอบขนาน กว้าง 2-4 ซม. ยาว 3-11 ซม. ปลายมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอ่อนและมีนวลเล็กน้อย เส้นใบเห็นได้ชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ 7-10 เส้น ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห ก้านใบยาว 2-7 มม. ดอกเล็ก ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุกตามง่ามใบ กระจุกละ 2-8 ดอก สีขาวหรือขาวอมเขียว ใบประดับ 2 ใบ รูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็กมาก ก้านดอกยาว 0.5-1 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนติดกันเป็นรูประฆัง ยาว 2 มม. กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ 2 มม. ยาว 3-4 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน โคนติดกันเป็นหลอดยาว 1-2 มม. รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด แต่เจริญเพียง 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน ผลเมล็ดแข็ง รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-6 มม. ยาว 0.7-1.2 ซม. มี 3 พู และยังคงเหลือกลีบติดอยู่ที่ขั้วผล ผลแก่สีแดงสดเป็นมัน มี 1 เมล็ด เมล็ดแบนโค้ง กว้าง 1-3 มม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พม่า เวียดนามตอนใต้ และภูมิภาคมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามป่าดิบใกล้ชายทะเลและป่าดิบแล้ง สูงจากระดับน้ำทะเล 5,660 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.