กลอย


ชื่อพื้นเมือง : กลอย มันกลอย (ทั่วไป), กลอยข้าวเหนียว กลอยหัวเหนียว (นครราชสีมา), กลอยนก กอย (ภาคเหนือ), คลี้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dioscorea hispida Dennst.


ชื่อวงศ์ : DIOSCOREACEAE


ชื่อสามัญ : -


ลักษณะ : ไม้เถา เลื้อยพันไปบนต้นไม้อื่น ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินมีขนและหนาม ใบประกอบเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ปลายแหลม โคนสอบแคบ แผ่นใบกว้าง ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้ไม่มีก้าน อัดรวมกันแน่นบนช่อดอก มีกลิ่นหอม ดอกเพศเมียเรียงกันอยู่ห่างๆ บนช่อดอก ไม่มีก้านดอกเช่นกัน ผลยาวประมาณ 5 ซม. มี 3 ครีบ เมล็ดมีปีกเฉพาะที่โคน หัวค่อนข้างกลม ส่วนบนและส่วนล่างแบน ไม่ฝังลึกลงในดิน ส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินมักเป็นลอนตื้นๆ หัวมีขนาดต่างๆ กัน ผิวสีฟางหรือเทา เนื้อในสีขาวถึงขาวนวล


ประโยชน์ : หัวกลอยใช้เป็นอาหารได้ ก่อนนำมากินจะต้องล้างสารพิษออกให้หมด โดยฝานหัวกลอยเป็นชิ้นบางๆ นำมาแช่ในน้ำเกลือแล้วถ่ายน้ำทิ้งหลายๆ ครั้ง หรือแช่ในน้ำไหลเพื่อให้น้ำชะล้างสารพิษออกให้หมด เพราะ dioscorine เป็นแอลคาลอยด์ที่ละลายได้ดีในน้ำ ชาวป่าบางเผ่านำน้ำที่คั้นจากหัวกลอยมาผสมกับยางของต้นน่อง (Antiaris toxicaria Lesch.) อาบลูกดอกเพื่อใช้ยิงสัตว์ ในหัวกลอยยังมีแป้งในปริมาณสูง ในอินเดียนำมาเตรียมเป็นแป้งในทางอุตสาหกรรม


โทษ : หัวกลอยเป็นพิษ สารพิษที่พบในหัวกลอย คือ dioscorine ซึ่งเป็นแอลคาลอยด์กลุ่ม tropane กลุ่มเดียวกับ hyoscine ที่พบในใบ ราก ดอก และเมล็ดลำโพง พิษของ dioscorine จะทำให้ระบบประสาทกลางเป็นอัมพาต การกินหัวกลอยที่ยังไม่ได้ล้างเอาสารพิษออกอาจทำให้เกิดพิษ ปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หายใจขัด หมดสติ และถ้ากินมากอาจทำให้ถึงตายได้หลังจากที่กินแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง


ข้อมูลเพิ่มเติม