กูดต้น
Cyathea borneensis Copel., CYATHEACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เฟิร์นต้น ลำต้นตั้ง สูงได้กว่า 2 ม. มีเกล็ดปกคลุม และมีรอยก้านใบที่หลุดร่วงไป รากเป็นเส้นแข็งสีดำ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเป็นกลุ่มบริเวณใกล้ยอด แกนกลางใบประกอบสีน้ำตาลอ่อน มีหนามสั้นๆ บริเวณโคน ส่วนตอนบนขรุขระหรือเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 1 ม. มีหนามสั้นๆ ทั่วไป โคนมีเกล็ดสีม่วงแดงหรือน้ำตาล เกล็ดรูปแถบกว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 2 ซม. กลุ่มใบย่อยติดอยู่กับแกนกลางใบประกอบ มีหลายคู่ มีรูปร่างต่างกันหลายแบบ ขนาดใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 18 ซม. ยาวประมาณ 50 ซม. ปลายเรียวแหลมยาว แกนกลุ่มใบย่อยสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอ่อน ตอนโคนสีม่วงแดง มีขนสีน้ำตาลและเกล็ดห่างๆ กลุ่มใบย่อยคู่ล่างๆ เรียงห่างกันมากกว่า 10 ซม. ใบย่อยมีมากกว่า 25 คู่ เรียงห่างกันประมาณ 2.5 ซม. รูปเคียวหรือรูปใบหอก กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 10 ซม. ปลายเรียวแหลม ขอบหยักเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบย่อย หยักรูปเคียว กว้างประมาณ 4 มม. ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายมน ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบาง เส้นกลางใบมีเกล็ดประปราย เกล็ดแบน สีเข้ม ปลายเรียวแหลม ขอบเรียบ เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ 7-10 คู่ เห็นได้ชัดทั้ง 2 ด้าน ก้านใบย่อยสั้น กลุ่มอับสปอร์เกิดบนฐานที่พองนูนใกล้เส้นกลางใบย่อย เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บาง แผ่ราบ มองเห็นได้อยู่ด้านล่างของกลุ่มอับสปอร์ที่เจริญเต็มที่แล้ว


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และเกาะบอร์เนียว


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นใกล้ลำธารในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1,800 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.