กัญชา
Cannabis sativa L., CANNABIDACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูง 0.9-1.5 ซม. มีขนสีเขียวอมเทาและไม่ค่อยแตกสาขา ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ เรียงสลับ ขอบใบเว้าลึกจนถึงจุดโคนใบเป็น 5-7 แฉก แต่ละแฉกรูปยาวรี กว้าง 0.3-1.5 ซม. ยาว 6-10 ซม. โคนและปลายสอบ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ออกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายยอด ช่อดอกและใบของต้นเพศผู้จัดเรียงตัวกันห่างๆ ต่างจากต้นเพศเมียที่เรียงชิดกัน ดอกเล็ก ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงหุ้ม ผลแห้งเมล็ดล่อน เล็ก เรียบ สีน้ำตาล


ถิ่นกำเนิด : ทวีปเอเชีย


การกระจายพันธุ์ : อัฟกานิสถาน ทวีปแอฟริกาเขตร้อน ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือและใต้ และฮาวาย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : -


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นได้ในดินทุกชนิด แต่ถ้าปลูกในดินร่วนซุยและมีอาหารอุดมสมบูรณ์ก็จะงอกงามดี


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : กัญชาที่ปลูกในเขตร้อนออกฤทธิ์ทำให้มึนเมาเพราะให้เรซินมาก และมีคุณภาพดีกว่ากัญชาที่ปลูกในเขตอบอุ่น กัญชาที่ปลูกในยุโรปให้เส้นใยที่มีคุณภาพดีกว่าที่ปลูกในเมืองร้อน
ได้มีการออกพระราชบัญญัติกัญชาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2487 ห้ามปลูก เสพ และมีไว้ในครอบครอง การเสพกัญชาในประเทศไทยนิยมสูบโดยใช้กล้องที่เรียกว่า บ้องกัญชา ทำด้วยไม้ไผ่ เผากัญชาแล้วดูดควันให้ผ่านน้ำ ปัจจุบันนิยมนำกัญชามาผสมกับยาสูบแล้วสูบเช่นเดียวกับบุหรี่ นอกจากวิธีดังกล่าวแล้วยังมีผู้นิยมนำกะหลี่กัญชามาผสมอาหาร เช่น แกงเขียวหวาน
กัญชาเป็นพืชที่นำมาเตรียมผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด มีชื่อเรียกต่างๆ กัน
มาริฮัวนา (Marijuana, Marihuana) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการเตรียมที่ง่ายที่สุด กล่าวคือนำกะหลี่กัญชามาผึ่งให้แห้งในที่ร่ม แล้วขยี้ให้เป็นผงหยาบ
กัญชาแท่ง (Ganja) เป็นผงหยาบของดอก ผล และใบแห้ง ที่นำมาอัดเป็นแท่งหรือแผ่นบางๆ
แบง (Bhang, Bang) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่ำ อาจมีส่วนประกอบเป็นเพียงใบเท่านั้น หรืออาจมีช่อดอกทั้งเพศผู้และเพศเมียปนมาด้วย
แฮชฮิส (Hashish) หรือ ชารัส (Charas) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแรงสูง เตรียมขึ้นโดยนำกะหลี่กัญชามาใส่ในถุงผ้าใบ ใช้ไม้ทุบให้เรซินไหลออกมา แล้วจึงขูดเรซินออกมาจากถุงผ้า
รีฟเฟอร์ (Reefer) หรือ จอยต์ (Joint) เป็นผลิตภัณฑ์ผสมระหว่างกัญชาและยาสูบ ในประเทศตะวันตกนิยมนำรีฟเฟอร์มาสูบแทนบุหรี่


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.