แก้วตาไว
Pterolobium macropterum Kurz, LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพาดไปตามต้นไม้ ลำต้นและก้านใบมีหนามงองุ้ม กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนอ่อนนุ่มสั้นๆ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว 15-20 ซม. ใบประกอบแยกแขนงตรงข้ามกัน 6-8 คู่ แต่ละแขนงมีใบย่อยขนาดเล็กเรียงตรงข้ามกัน 7-10 คู่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ถึงรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 5-7 มม. ยาว 0.8-1.2 ซม. ปลายมนถึงหยักเว้า โคนเบี้ยว ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว 10-20 ซม. แต่ละแขนงยาว 10-15 ซม. ดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7-1 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนติดกัน กลีบนอกสุดเรียว กว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 8 มม. กลีบอื่นๆ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ สั้นกว่าเล็กน้อย กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวอมชมพู กลีบบนเป็นกลีบที่อยู่ในสุดและเป็นกลีบที่ใหญ่กว่ากลีบอื่นๆ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายมน กว้างประมาณ 3 มม. ยาวประมาณ 8 มม. กลีบที่เหลือลักษณะใกล้เคียงกันกับกลีบแรก กว้างประมาณ 3 มม. ยาวประมาณ 8 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูมีขน ฝักสีแดงเข้ม มีปีกที่ปลายฝัก ส่วนที่หุ้มเมล็ดรูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง 1-1.2 ซม. ยาว 1.8-2 ซม. ส่วนที่เป็นปีกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ เบี้ยว ปลายมน กว้าง 2-2.3 ซม. ยาว 4-5 ซม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พม่า ลาว อินโดนีเซีย (เกาะชวา)


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้, เชียงใหม่, ลำพูน, แพร่, แม่ฮ่องสอน, เลย, หนองคาย, อุทัยธานี, กาญจนบุรี


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,300 ม.


เวลาออกดอก : เดือนมีนาคมถึงเมษายน


เวลาออกผล : เดือนเมษายนถึงมิถุนายน


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
2) Smitinand, T. and Larsen, K., eds. 1984. Flora of Thailand (Vol.4: 1). Bangkok: TISTR Press.