กำจาย
Caesalpinia digyna Rottl., LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มเลื้อย ลำต้นและก้านใบมีหนามแหลมแข็งโค้งลงคล้ายหนามกุหลาบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว 15-20 ซม. หูใบเรียวแคบ ยาวประมาณ 2 มม. ร่วงง่าย ใบย่อย 8-12 คู่ เรียงตรงข้ามกัน รูปขอบขนาน กว้าง 3-4 มม. ยาว 0.8-1.2 ซม. ปลายมน โคนเบี้ยว ก้านใบย่อยสั้นมาก ใบอ่อนมีขนนุ่มแต่จะร่วงไปเมื่อใบแก่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว 15-20 ซม. ก้านดอกยาว 1.5-2.5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แต่ละกลีบขนาดไม่เท่ากัน กลีบนอกใหญ่กว่ากลีบอื่น โคนติดกันเป็นรูปถ้วยตื้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง ขนาดไม่เท่ากัน แต่ละกลีบค่อนข้างกลม ปลายหยักเว้า เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูมีขนเป็นปุย รังไข่เกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีออวุล 3-4 เม็ด ฝักไม่แตก รูปขอบขนาน ตรงกลางป่องเล็กน้อย กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 3.5-5 ซม. ก้านสั้น มี 2-3 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลคล้ำค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 9 มม. ยาวประมาณ 1.2 ซม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : จีนตอนใต้ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, แพร่, เลย, ขอนแก่น, นครราชสีมา, กรุงเทพมหานคร, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, จันทบุรี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ปัตตานี


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในป่าเบญจพรรณและตามชายป่าทั่วไป


เวลาออกดอก : เดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม


เวลาออกผล : เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
2) Smitinand, T. and Larsen, K., eds. 1984. Flora of Thailand (Vol.4: 1). Bangkok: TISTR Press.