สะเดาช้าง
Acrocarpus fraxinifolius Wight et Arn., LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. โคนต้นมักมีพอน เปลือกเรียบ สีขาวอมเทา เปลือกชั้นในสีน้ำตาล กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลือง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ กว้าง 10-25 ซม. ยาว 20-60 ซม. ก้านใบประกอบยาว 5-20 ซม. มีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลือง แยกแขนงตรงข้ามกัน 3-5 คู่ แต่ละแขนงมีใบย่อย 4-9 คู่ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 2-7 ซม. ยาว 2-15 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนค่อนข้างเบี้ยว ใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มสั้นๆ ก้านใบย่อยสั้น ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาว 20-25 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาว 3-4 มม. ปลายจัก 5 แฉก มีขนนุ่ม กลีบดอก 5 กลีบ สีเขียว ยาวประมาณ 1 ซม. มีขนนุ่ม เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 เท่าของกลีบเลี้ยง ปลายก้านสีแดง รังไข่มีออวุล 15-20 เม็ด ฝักค่อนข้างแบน กว้าง 1-2 ซม. ยาว 8-15 ซม. คอดเล็กน้อยเป็นตอนๆ รอยประสานด้านบนเป็นสันกว้าง 3-5 มม. ยาวตลอดทั้งฝัก ก้านผลยาว เมล็ดสีน้ำตาล แบน


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : อินเดีย พม่า ลาว อินโดนีเซีย (เกาะสุมาตรา เกาะชวา)


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : เชียงใหม่, ลำพูน, เลย, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในป่าดิบตามสันเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,100 ม.


เวลาออกดอก : เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
2) Smitinand, T. and Larsen, K., eds. 1984. Flora of Thailand (Vol.4: 1). Bangkok: TISTR Press.