กุหลาบเทียม
Pereskia grandifolia Haw., CACTACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 2-5 ม. กิ่งสีเขียวแกมม่วง ใบเดี่ยว หรือเป็นกลุ่ม 2-3 ใบ เรียงสลับ รูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-6 ซม. ยาว 6-15 ซม. ปลายแหลมมาก โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา เส้นใบเห็นไม่ชัดเจน เส้นกลางใบนูนเด่นทางด้านล่าง ก้านใบยาวไม่เกิน 1 ซม. มีหนามแข็งปลายแหลมสีน้ำตาลดำ 1-8 อัน อยู่ตามง่ามใบหรืออยู่โคนกลุ่มใบ ช่อดอกเป็นกระจุกสั้น ออกตามปลายกิ่ง ทยอยบานจากดอกกลาง ส่วนดอกข้างในลำดับต่อๆ ไปจะออกที่ฐานของดอกแรกหรือดอกข้างในลำดับก่อน ดอกกลางไม่มีก้านดอก ดอกข้างมีก้านดอกยาวไม่เกิน 1 ซม. ฐานดอกคล้ายถ้วย ใบประดับรูปไข่หรือรูปไข่กลับ 1 ใบ กว้าง 0.5-1 ซม. ยาว 0.8-1.5 ซม. ออกที่โคนก้านดอก และมีใบประดับเล็กๆ อีกหลายใบอยู่ที่ฐานดอกทั้งส่วนโคน ด้านข้าง และขอบ ง่ามใบประดับและรอบโคนก้านดอกมีขนสั้นๆ สีน้ำตาล กลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก มีประมาณ 3 กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. กลางกลีบด้านนอกสีเขียว ขอบกลีบและด้านในกลีบสีเหมือนกลีบดอก กลีบดอก 6-8 กลีบ สีชมพูอมม่วง เรียงซ้อนสลับ รูปไข่กลับ กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 2-2.5 ซม. มีเกสรเพศผู้มาก ก้านชูอับเรณูสีนวล ยาวประมาณ 1 ซม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 5 แฉก ผลคล้ายผลชมพู่เบี้ยว กว้าง 3-7 ซม. ยาว 5-10 ซม. ผลแก่สีเหลือง เมล็ดรูปไข่กลับหรือรูปรี กว้าง 4-5 มม. ยาวประมาณ 6 มม.


ถิ่นกำเนิด : แถบบราซิล


การกระจายพันธุ์ : -


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : -


สภาพนิเวศน์ : ชอบดินทราย


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : ปักชำ


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.