กุหลาบเทียม
Pereskia bleo (Kunth) DC., CACTACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 2-8 ม. กิ่งสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 4-7 ซม. ยาว 6-20 ซม. ปลายแหลมมาก โคนสอบ ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ 4-7 เส้น ก้านใบยาว 0.5-3 ซม. ตามง่ามใบมีหนาม 1-30 อัน สีน้ำตาลแดง แข็ง และปลายแหลม ยาว 0.5-2 ซม. ตามง่ามใบบนมีหนามน้อยกว่าตามง่ามใบล่างๆ ดอกออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่ม 2-3 ดอกตามปลายกิ่ง ทยอยบาน เส้นผ่านศูนย์กลางดอกบาน 4-6 ซม. ก้านดอกอวบ ยาว 0.5-1 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางโคนก้าน 3-4 มม. ฐานดอกคล้ายกรวยห้าเหลี่ยม ขอบหยักเล็กน้อย มีใบประดับเล็กๆ 4-5 ใบ เรียงรายอยู่ที่ขอบฐานดอก ใบประดับรูปร่างไม่แน่นอน มีทั้งรูปสามเหลี่ยมไปจนถึงเรียวปลายแหลม กว้าง 2-5 มม. ยาว 0.2-1 ซม. กลีบเลี้ยง 2-3 กลีบ รูปไข่ กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1-2 ซม. กลางกลีบด้านนอกสีเขียวแกมส้ม ขอบกลีบและด้านในกลีบสีเหมือนกลีบดอก กลีบดอก 6-9 กลีบ สีส้มเรียงเป็นชั้นซ้อนสลับกัน รูปไข่กลับ กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 2-3 ซม. ปลายกลีบเว้าตื้นหรือมนและมีติ่งแหลม มีเกสรเพศผู้มาก ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว 1-1.5 ซม. สีส้ม โคนสีขาว ก้านเกสรเพศเมียอวบ ยาว 1-1.5 ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉก 5-6 แฉก ผลคล้ายฝักบัวหรือรูปกรวยห้าเหลี่ยม ด้านบนแบน เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 ซม. ยาว 3-4 ซม. ผิวเป็นมัน ผลแก่สีเหลือง เมล็ดสีดำ รูปไข่กลับหรือรูปไต กว้าง 4-6 มม. ยาว 5-7 มม.


ถิ่นกำเนิด : แถบโคลัมเบีย


การกระจายพันธุ์ : -


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : -


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นได้ดีในที่ดินทรายหรือดินร่วน


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : ปักชำ


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.