กระดังงาจีน
Artabotrys hexapetalus (L.f.) Bhandari, ANNONACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพาดซุ้มหรือค้าง ให้ร่มเงาได้ดี ผิวของกิ่งก้านค่อนข้างเรียบ ยอดอ่อนมีขน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรี กว้าง 4-8.5 ซม. ยาว 8.5-20 ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าและมีขนประปรายตามเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ 7-9 เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 5-8 มม. ช่อดอกออกตรงข้ามกับใบ ก้านแบนและโค้งงอคล้ายขอ ยาว 1-2 ซม. ดอกใหญ่มี 1-5 ดอก ออกตามส่วนโค้งของก้านช่อดอก ดอกอ่อนสีเขียว มีขน เมื่อแก่สีเหลือง ผิวค่อนข้างเรียบ กลิ่นหอม ก้านดอกยาว 1-2 ซม. โคนก้านมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม 1 ใบ กว้าง 1-2 มม. ร่วงง่าย ปลายก้านดอกใหญ่กว่าโคนก้านและเป็นสามเหลี่ยม กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ขนาด 5-7 มม. ปลายกลีบกระดกขึ้น กลีบดอกเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ รูปขอบขนานปลายแหลม กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2.5-4.5 ซม. โคนกลีบเว้าคล้ายรูปไข่ป้อมและโค้งแนบกับโคนกลีบชั้นใน มีจุดกระสีแดงที่ด้านในของโคนกลีบ เนื้อกลีบหนา ด้านในมีสันกลางกลีบ กลีบดอกชั้นในคล้ายกลีบชั้นนอกแต่ขนาดเล็กกว่า เกสรเพศผู้เล็ก มีจำนวนมาก เกสรเพศเมียมีหลายอัน อยู่แยกกัน แต่ยอดเกสรเพศเมียมีเมือกเหนียวติดกัน ผลเป็นผลกลุ่ม กลุ่มละ 4-20 ผล แต่ละผลรูปรีป้อมหรือรูปไข่กลับ กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-2 ซม. ก้านช่อผลยาว 1-2 ซม. ก้านผลสั้น ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง แต่ละผลมี 1-2 เมล็ด


ถิ่นกำเนิด : พรรณไม้พื้นเมืองของประเทศอินเดีย ศรีลังกา และจีนตอนใต้


การกระจายพันธุ์ : ปลูกทั่วไปในเขตร้อน พม่า ไทย และภูมิภาคมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : -


สภาพนิเวศน์ : -


เวลาออกดอก : ออกดอกตลอดปี


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : ชื่อกระดังงาจีนในปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก คนทั่วไปนิยมเรียกพรรณไม้ชนิดนี้ว่า การเวก


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.