ก่วมแดง
Acer calcaratum Gagnep., ACERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 15-25 ม. เปลือกสีเทา ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กน้อย มีคราบสีขาวกระจัดกระจายตามลำต้นและมีน้ำเลี้ยงใสรสหวาน กิ่งอ่อนมีขนประปรายหรือเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปพัด กว้าง 6-21 ซม. ยาว 6-15 ซม. โคนมนกว้างหรือเว้าเล็กน้อยตรงรอยต่อที่ก้านใบ ขอบเรียบ มีเส้นโคนใบ (basal nerve) 3 เส้น ใบเกลี้ยง ยกเว้นด้านล่างตามซอกของเส้นโคนใบและเส้นแขนงใบมีขนสั้นสีน้ำตาลเป็นกระจุก แผ่นใบครึ่งบนแยกเป็น 3 แฉกลึกลงมาประมาณกึ่งกลางใบ แฉกของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายแฉกแหลมยาว ใบแก่สีเขียว ใบอ่อนสีน้ำตาลอมเขียว ก้านใบยาว 2-4.6 ซม. มักมีสีแดง ช่อดอกสั้น ออกที่ปลายกิ่ง ยาว 2-3.5 ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้มีจำนวนมากกว่าดอกเพศเมีย ดอกเพศเมียจะติดผลน้อยมาก ดอกสีขาวอมชมพู เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมยาว กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปพัด กว้างประมาณ 3 มม. ยาวประมาณ 4 มม. โคนกลีบดอกเรียวคอดลงเป็นก้านกลีบดอกสั้นๆ ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ 8 อัน ยื่นออกมาเหนือส่วนอื่นๆ ของดอก ดอกเพศเมียมีเกสรเพศเมียขนาดเล็ก ก้านเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 อัน ผลรูปไข่ ยาว 0.8-1.3 ซม. ออกเป็นช่อ ช่อละ 1-3 ผล แต่ละผลเกิดจากรังไข่ที่เจริญขึ้นเป็นผลสมบูรณ์เพียงอันเดียว ส่วนรังไข่อีกอันหนึ่งที่ติดกันตรงฐานจะฝ่อไปหรือเจริญขึ้นเป็นผลที่ไม่สมบูรณ์ ผนังผลด้านนอกและด้านในเกลี้ยง มีปีกแข็งยาวอยู่ทางด้านบน กว้าง 1-1.6 ซม. ยาว 2-3 ซม. ปลายมน ส่วนฐานที่ติดกับผลคอดเล็กน้อย มีความกว้างไล่เลี่ยกับความกว้างของผล ปีกสีแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พม่าและเวียดนามตอนเหนือ


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามป่าดิบเขาใกล้ลำธารบนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,100-2,200 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.