สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่
             Klong Phai Botanical Garden   
 

Rutaceae










ส้มโอ

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Citrus maxima (Burm.f.) Merr.
วงศ์ :  Rutaceae
ชื่อสามัญ :  Pummelo

ชื่ออื่น :  โกร้ยตะลอง (เขมร); มะขุน, มะโอ (ภาคเหนือ); ลีมาบาลี (มลายู-ยะลา); สังอู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ส้มโอ (ทั่วไป)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ยืนต้นขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ แตกกิ่งก้านมากเป็นพุ่ม  กิ่งอ่อนปกคลุมด้วยขนสั้นๆ  มีหนามรูปร่างยาวขนาด 1-5 ซม. ใบ รูปไข่ยาว ส่วนของแผ่นใบมองเห็นเป็นรอยเว้า แยกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน ขนาดแผ่นใบส่วนบนกว้างประมาณ 2-7 ซม. ยาวประมาณ 10-12 ซม. แผ่นใบส่วนล่างมีลักษณะปีก มีขนาดเล็กกว่าส่วนบน ดูโดยรวมเป็นรูปคล้ายหัวใจ เรียวสอบมาทางก้านใบ ใต้ใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ ดอกเป็นดอกเดี่ยว แต่อาจพบออกเป็นช่อตามมุมใบ หรือปลายยอด เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวขุ่น 5 กลีบ เกสรตัวผู้เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มประมาณ 4-5 กลุ่ม อับละอองเกสรสีเหลือง เกสรตัวเมียมีรังไข่ที่แบ่งเป็น 11-16 ช่อง ผลชนิด berry ขนาดปานกกลางถึงใหญ่ มีรูปร่างหลายแบบ เช่น ทรงกลม ทรงแป้น หรือผลยาวมีจุกคล้ายผลสาลี่ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเขียวอ่อน หรืออมเหลือง เปลือกชั้นนอกมีลักษณะเหนียว มีต่อมน้ำมัน (oil gland) กระจายทั่วไปตามผิวของผล เปลือกชั้นกลาง สีขาวหรือสีชมพู มีลักษณะอ่อนนุ่ม หนาประมาร 1-2.3 ซม. เปลือกผลชั้นในบางส่วนเจริญเป็นถุงน้ำหวาน (juice sac) เป็นส่วนที่รับประทานได้ มีสีขาว ครีม ชมพู หรือแดง  รสชาติเปรี้ยว หรือเปรี้ยวอมหวาน จนถึงหวานสนิท บางพันธุ์อาจมีรสขมปนบ้าง
          ส้มโอมีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะมลายู อินเดีย จีน และไทย ขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ติดตา ทาบกิ่ง

ประโยชน์ :  ทางอาหาร บริโภคเนื้อผลสดเป็นผลไม้ เปลือกชั้นกลางนำมาเชื่อมเป็นของหวาน หรือนำมากวนปรุงรสเป็นส้มโอสามรสได้ ทางสมุนไพร ใบ แก้ท้องอืดแน่น ตำพอกศีรษะแก้ปวดหัว ดอก ขับลม ขับเสมหะ ผล ช่วยขับเสมหะ แน่นท้อง จุกเสียด ไส้เลือน ต้มน้ำอาบแก้คัน เมล็ด แก้ปวดท้อง ราก แก้หวัด แก้ไอ ปวดกระเพาะอาหาร