สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่
             Klong Phai Botanical Garden   
 

Bombaceae











 


งิ้วป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bombax anceps Pierre var. anceps
วงศ์ : Bombaceae

ชื่อสามัญ -
ชื่ออื่น :  งิ้วป่า (ประจวบคีรีขันธ์, ภาคใต้); ไกร่ (เชียงใหม่); นุ่นป่า (ภาคกลาง); งิ้วป่าดอกขาว, งิ้วดอกขาว, ไกร (ภาคเหนือ); นุ่นป่า (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่  ผลัดใบ สูง 15-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน มักมีพูพอนต่ำๆ เปลือกเรียบ สีเทาอมเขียว เรือนยอดโปรง แผ่กว้าง กิ่งเกือบตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนจะมีรอยแผลใบปรากฏอยู่ ใบ เป็นช่อ ติดเรียงเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลายๆ กิ่ง ช่อหนึ่งๆ มีใบย่อยที่ออกจากจุดเดียวกันแผ่ออกเป็นวงกลม 5-7 ใบ แต่ละใบกว้าง 4-6 ซม. ยาว 15-30 ซม. โคนใบสอบแคบ ปลายใบเรียวแหลมเนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง ก้านใบย่อยยาวประมาณ 2.5 ซม. อบใบเรียบ ก้านช่อใบยาวประมาณ 30 ซม. เกลี้ยง โคนก้านจะบวมพองขึ้นเล็กน้อย ดอก โต สีขาว กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่มเหนือรอยแผลใบตามปลายๆ กิ่ง  แต่ละกระจุกมี 3-5 ดอก โคนกลีบฐานดอกติดกันเป็นรูปถ้วยแข็งๆ ยาวประมาณ 2.5 ซม. มีขนเป็นมันทางด้านนอก ขอบถ้วยหยักเป็นแฉก 3-4 แฉก แต่ละแฉกมีรูปและขนาดแตกต่างกัน กลีบดอกมี 5 กลีบ ทรงกลีบรูปขอบขนาน ยาว 5-8 ซม. เมื่อบานเต็มที่ปลายกลีบจะแผ่ออกแล้วม้วนกลับมาทางขั้วดอก เผยให้เห็นเกสรผู้จำนวนมากมาย โคนก้านเกสรผู้จะติดกันเป็นกลุ่ม และติดอยู่กับฐานโคนกลีบดอกด้านใน รังไข่ รูปรีๆ ภายในมีไข่อ่อนมาก หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียวจะยาวยื่นพ้นกลุ่มเกสรผู้ขึ้นมา ผล รูปทรงกระบอก ยาว 10-15 ซม. โตวัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ซม. ผิวแข็ง ผลแก่จัดจะแตกอ้าตามรอยประสาน เมล็ดเล็ก รูปทรงกลม สีดำ มีจำนวนมาก ห่อหุ้มอยู่ด้วยปุยฝ้ายสีขาว
          งิ้วป่าพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณตามเชิงเขาและไหล่เขา ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 600-1,000 เมตร ออกดอกระหว่างเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ ก่อนออกดอกจะทิ้งใบหมด เป็นผลระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน ปกติใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์

ประโยชน์ :  เนื้อไม้สีขาว ไม่มีแก่น ใช้ทำเรือขุด หีบและลังใส่ของ ทำก้านและกลักไม้ขีด ไม้จิ้มฟัน และทำเยื่อกระดาษ เมล็ด น้ำมันจากเมล็ดใช้ปรุงอาหาร ทำสบู่ เปลือก ใยจากเปลือกใช้ทำเชือก