ลักษณะทางชีววิทยา
ปลวกเป็นแมลงที่มีลักษณะความเป็นอยู่แบบสังคม
มีการแบ่งหน้าที่การทำงานออกเป็นวรรณะต่างๆ กัน
รูปร่างลักษณะของปลวกในแต่ละวรรณะไม่เหมือนกัน
ในระบบสังคมของปลวกต่างชนิดกัน
จะมีการดำรงชีวิตที่ต่างกันออกไป
และเป็นพื้นฐานของลักษณะทางชีววิทยา นิเวศวิทยา
และวงจรชีวิตของปลวกแต่ละชนิดนั้นๆ
วรรณะต่างๆ
ของปลวก
โดยทั่วไปปลวกในแต่ละรังจะประกอบด้วยสมาชิก 3 วรรณะใหญ่คือ
วรรณะทหาร วรรณะกรรมกร และวรรณะสืบพันธุ์ ที่ 3 วรรณะ
อาศัยอยู่ร่วมกันภายในรัง ซึ่งมีการจัดระบบอย่างดี
ทุกวรรณะมีหน้าที่ในการดำรงชีวิตเฉพาะของตนเอง
ซึ่งเกี่ยวข้องและเกื้อกูลกับหน้าที่ของวรรณะอื่นๆ
ในการดำรงชีวิตและการพัฒนาของประชากรในรังทั้งหมด
ในการควบคุมวิถีชีวิตและการทำงานของปลวกแต่ละวรรณะ
ถูกกำหนดในหลายสาเหตุด้วยกัน
การแลกเปลี่ยนสารเคมีระหว่างปลวกแต่ละตัวภายในรังเดียวกัน
เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยควบคุมหน้าที่ต่างๆ
ภายในรังให้ดำเนินไปตามภาระหน้าที่ของแต่ละวรรณะ
ตามระบบของสังคมในปลวกแต่ละรัง
-
วรรณะทหาร (soldier)
เป็นปลวกที่มีหน้าที่ในการป้องกันประชากรในวรรณะอื่นๆ
จากศัตรูที่จะเข้ามาทำร้าย
โดยทั่วไปจะเป็นพวกที่มีขนาดใหญ่กว่าปลวกวรรณะอื่นๆ
มีหัวโตสีน้ำตาล กรามใหญ่ ยาและแข็งแรง
ใช้ในการต่อสู้กับศัตรู ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมดชนิดต่างๆ
ปลวกบางชนิดไม่มีกราม
แต่จะมีต่อมหรือท่ออยู่ที่ส่วนหัวซึ่งจะเป็นทางออกของสารเคมีซึ่งเป็นสารเหนียวๆ
เพื่อใช้ต่อสู้กับศัตรูแทนกราม
-
วรรณะกรรมกร (worker)
เป็นปลวกที่พบจำนวนมากที่สุดภายในจอมปลวกแต่ละรัง
มีหน้าที่หลายประการ เช่น เลี้ยงตัวอ่อน หาอาหาร
สร้างและซ่อมแซมรัง
ปลวกกรรมกรหรือบางครั้งเรียกว่าปลวกงานที่มีอายุต่างกัน
จะมีขนาดและหน้าที่ในการดำเนินงานที่ต่างกันออกไป
ปลวกกรรมกรเป็นปลวกที่ไม่มีปีก
มีผนังลำตัวบางสีอ่อน
เป็นวรรณะที่เราจะพบเห็นมากที่สุดเมื่อสำรวจพบการทำลายของปลวก
เนื่องจากเป็นวรรณะเดียวที่ทำหน้าที่ในการทำลายไม้หรือวัสดุต่างๆ
-
วรรณะสืบพันธุ์ (reproductive)
ประกอบด้วยปลวกที่มีรูปร่างลักษณะต่างกันไป
ตามช่วงระยะเวลาของการดำเนินชีวิต เช่น
- แมลงเม่า เป็นปลวกวรรณะสืบพันธุ์ที่มีปีก
ส่วนใหญ่ปีกจะมีขนาดยาวเป็นสองเท่าของลำตัว
สีของลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองไปจนถึงสีดำ
เมื่อดินฟ้าอากาศเหมาะสม
แมลงเมาจะบินออกจากรังไปผสมพันธุ์กัน
และเริ่มสร้างรังใหม่
- นางพญา และราชา
เป็นแมลงเม่าที่ผสมพันธุ์กันแล้วสลัดปีก
และสร้างรังอยู่ในดินหรือในไม้ ถ้าเป็นปลวกไม้แห้ง
สำหรับนางพญาหรือราชินีปลวก เมื่อผสมพันธุ์แล้ว
ส่วนท้องจะขยายใหญ่เพื่อใช้เป็นอวัยวะที่ใช้เป็นที่เก็บไข่ซึ่งมีอยู่มากมายนับล้านฟอง
เพื่อรอจังหวะที่จะวางไข่ต่อไป
- วรรณะสืบพันธุ์รอง
เป็นปลวกที่พบในรังที่นางพญาหรือราชามีประสิทธิภาพในการผลิตไข่ลดลง
อายุขัยของปลวกวรรณะนี้จะสั้นกว่านางพญาหรือราชา
และมีประสิทธิภาพในการวางไข่ต่ำกว่าด้วย
การควบคุมการเกิดของปลวกวรรณะต่างๆ นั้น
สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมของนางพญา
ซึ่งจะผลิตสารเคมีหรือฮอร์โมนชนิดต่างๆ ออกมาทางรูขับถ่าย
แล้วปลวกกรรมกรจะมาเลียสารนี้ แล้วเลียต่อๆ กันไปจนทั่วรัง
รูปร่างลักษณะรวมทั้งการทำงานของปลวกที่ได้รับสารเคมีจากนางพญา
ก็จะถูกควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการในการพัฒนาการดำรงชีวิตของปลวกในแต่ละรัง |